วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2009

แนะนำครูหนุ่มสาว

Instruction to young teachers,
ศจ. สมเกียรติ กิตติพงศ์


ทิตัส 2:6-8

ส่วนผู้ชายหนุ่มก็เหมือนกัน จงเตือนเขาให้ใช้สติสัมปชัญญะ ท่านจงประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างในการดีทุกสิ่ง และในการสอนจงสุจริตและมีใจสูง และใช้คำพูดอันมีหลัก ซึ่งไม่มีผู้ใดจะตำหนิได้ เพื่อฝ่ายปฏิปักษ์จะได้อาย ไม่มีสิ่งใดจะติเราได้

เปาโล ส่งทิตัสน้องฝ่ายวิญญาณคนหนึ่งของท่านไปจัดระเบียบของคริสตจักรที่เกาะครีท คริสตจักรแห่งนี้ มีทั้งคนสูงอายุ และมีบางคนทำตัวเป็นศัตรูคอยโจมตี หากผู้นำทำอะไรผิดเขาจะต้องถูกตำหนิ ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ง่ายที่ผู้รับใช้อายุน้อยจะรับใช้ ครั้งแรกคนก็มองเขาอย่างขาดความเคารพนับถือ เพราะถือว่าเขามีประสบการณ์น้อย ถ้าอยู่เมืองไทย ก็อาจมีคนพูดว่า “ข้าฯอาบน้ำร้อนมาก่อนแก แกจะมาสอนข้าฯรึ” ครูที่มีอายุน้อยก็เกิดความประหม่าไม่กล้าพูดหรือสอน ขาดความมั่นใจ อันเป็นผลเสียต่อคริสตจักร

เปาโลสอนทิโมธีที่ไปรับใช้ที่เมืองเอเฟซัสเช่นเดียวกันว่า เขาจะต้องถ่อมใจ ไม่เย่อหยิ่ง “ในการตักเตือนนั้น อย่าตำหนิชายผู้มีอาวุโส แต่จงขอร้องเขาเสมือนเป็นบิดา ...และผู้หญิงผู้อาวุโสเป็นเสมือนมารดา” (1 ทิโมธี 5:1-2) ถ้าเป็นคนไทย เวลาเตือนผู้ใหญ่ ครูรุ่นลูกก็คงต้องยกมือขึ้นประณมไว้ที่หน้าอก พร้อมกับ พูดกับผู้ใหญ่อย่างสุภาพอ่อนน้อม ว่า “คุณพ่อลองฟังความเห็นจากพระคำเพื่อนำไปพิจารณานะครับ” อย่างนี้ใช่ไหม

เอาละลองฟังข้อแนะนำที่เปาโล แนะนำนะครับ
(1) อย่าใช้อารมณ์ เปาโลสอนคนหนุ่มว่า “ให้เขาใช้ lสติสัมปชัญญะ” (ทิตัส 2:6) การสอนถ้าเราใส่อารมณ์ โมโหฉุนเฉียว ครูก็เสีย อีกตอนหนึ่ง เปาโลสอนว่า เขาต้องไม่ชอบการทะเลาะวิวาท ..เป็นครูที่เหมาะสมต้องอดทน ( 2 ทิโมธี 2:24) ครูบางคนขี้ยั๊วะ เวลานักเรียนยั่วให้โกรธ หนังสือสุภาษิตสอนเราว่า คนที่ครองใจตนเองได้ ก็เก่งกว่าตีเมืองได้หลายเมือง เราเห็นตัวอย่างในสภาบ้านเราบ่อยๆเรื่องคนน้อตหลุด เบรกแตก มีแต่เสียอย่างเดียวครับ

(2) ประพฤติตนให้ดี “ท่านจงประพฤติตนเป็นแบบอย่างในการดีทุกอย่าง” (ทิตัส 2:7) ท่านจะมีอายุน้อยแค่ไหน ยังไม่สำคัญเท่ากับการใช้ชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดี สุภาพ อ่อนน้อม ยินดีรับใช้คนอื่นด้วยความเต็มใจ ช่วยเหลือคริสตสมาชิก ไม่ขี้เกียจ มีวินัย ไม่ทำสิ่งผิดศีลธรรม ยืนหยัดในสิ่งถูกต้องเสมอ สัตย์ซื่อ รักพระเจ้าและบัญญัติขิงพระองค์ นี่เป็นฐานของชีวิตครู ใช้ชีวิตอย่างนี้แล้ว เวลาเอ่ยปากสอนใครก็จะไม่ยาก

(3) สุจริตในการสอน ( ทิตัส 2:7) คำเตือนนี้มีความหมายว่า ครูต้องสัตย์ซื่อในการสอนศิษย์ ไม่ทิ้งมาตรฐานของตน พอนักเรียนที่มีเงินทำผิดก็ไม่กล้าตักเตือน หรือพอญาติทำไม่ถูกก็เป๋ไป๋ไปเข้าข้างเขา ยอมรอมชอมกับหลักการที่ตนเรียนรู้มา ครูที่เป็นเช่นนี้ บางคนในขณะนั้นอาจชอบ แต่พอผ่านไปนานวันสักหน่อย เขาก็จะอ่านออกว่าครูไร้จุดยืน แล้วศิษย์ขาดความอบอุ่น ว้าเหว่

(4) มีใจสูง (ทิตัส 2:7) คำนี้ในภาษาอังกฤษ หมายถึงความจริงจังในการสอน ให้น้ำหนักกับบทเรียน ถ้าเป็นนักมวยก็แปลว่า ลงหมัดแรง ไม่ใช่ไปด่านักเรียน แต่ให้บทเรียนมีความหนักแน่น ครูต้องทำความเข้าใจพระวจนะว่า พระเจ้าจริงจังกับคำสั่งของพระองค์แค่ไหน ครูเองหยั่งไม่ถึงก็จะทำให้บทเรียนอ่อนไปหมด เราสอนเพราะอยากช่วยนักเรียน เหมือนฉุดคนผิดออกจากทาง หรือช่วยคนตกน้ำ เราคงไม่พูดเพียงเพื่อให้ได้ความไพเราะ แต่เราอยากช่วยเขาจริงๆ ความจริงจังก็จะเกิดขึ้น

(5) ใช้คำพูดอันมีหลัก (ทิตัส 2:8)
พระคัมภีร์มีหลักการแน่นอนอยู่แล้ว ผมเรียนเภสัช ในวิชาปรุงยา อาจารย์ท่านสอนศาสตร์ของการ ชั่ง ตวง วัด คน ผสม ลำดับการใส่ตัวยาลงไป ตลอดจนการรินใส่ขวด และการติดฉลากยา พระคัมภีร์ก็เช่นกัน มีศาสตร์ที่แน่นอนครับ เป็นหลักเป็นเกณฑ์แน่นอน ไม่มั่ว ครูถ้าไม่มีหลัก อาทิตย์นี้สอนอย่างหนึ่งพออีกอาทิตย์ก็สอนอีกอย่างหนึ่ง นักเรียนฟังก็คงงง เพราะพูดสองครั้งบทเรียนมันตีกันเอง ครูต้องตีโจทย์ให้แตกเสียก่อน ถ้าครูเองก็ยังตัดสินไม่ได้ว่า เรื่องนั้นๆบทสรุปคืออะไร แน่นอนเวลาอธิบาย ก็ต้องพูดข้างๆคูๆ ถูๆไถๆไป ตนเองไม่รู้เรื่องแล้วจะให้คนอื่นรู้เรื่องได้อย่างไร จริงไหม

ยึดหลัก เปาโลไว้ เช่นนี้แล้ว รับรองครับว่าใครก็โจมตีท่านไม่ได้ และแม้ท่านด้อยอาวุโส ผูสูงวัยก็คงต้องเปิดหูฟังท่าน

ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ



Visitor 218

 อ่านบทความย้อนหลัง