|
อ่านพระคำอย่างไร ให้ได้ประโยชน์
31-05-2009
ศิษยาภิบาล
ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม เดือนแห่งการเรียนรู้ที่คริสตจักรได้ตั้งไว้ ผมขอแนะนำการอ่านพระคัมภีร์ส่วนตัวของผู้เชื่อ
อาจารย์เปาโลสอนทิโมธีว่า จงฝึกตนในทางธรรม
ทางของพระเจ้าก็มีประโยชน์ในทุกทาง เพราะทรงไว้ซึ่งประโยชน์สำหรับชีวิตปัจจุบันและชีวิตอนาคตด้วย (1 ทิโมธี 4:8)
อีกตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และ เป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าวการปรับปรุงแก้ไขคนให้ดี และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง (2 ทิโมธี 3:16-17)
การอ่านพระคัมภีร์ เราต้องอ่านให้ได้ประโยชน์ ให้พระเจ้าใช้พระคำฝึก หรือ ปั้นเรา ผมขอแนะนำท่าน 4 ประการดังนี้
(1) อธิษฐาน
ทูลขอความเข้าใจ ยากอบ 1:5 กล่าวว่า ผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้ผู้นั้นทูลขอจากพระเจ้า ผู้ทรงโปรดประทานให้แก่คนทั้งปวงด้วยพระกรุณาและมิได้ทรงตำหนิ แล้วผู้นั้นก็จะได้รับสิ่งที่ทูลขอ พระคัมภีร์เขียนโดยการดลใจของพระวิญญาณ เวลาอ่านพระคัมภีร์ ก็ต้องการการแปลความโดยพระวิญญาณ เราผู้อ่านอาจโง่เขลาเบาปัญญา
แต่ไม่เป็นไร เราขอจากพระองค์ได้
พระองค์ทรงมีพระทัยกรุณา เหมือนพ่ออยากถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้ให้ลูก แล้วพระเจ้าจะประทานความสว่างให้ท่านครับ
(2) ทำความเข้าใจ
พระคัมภีร์เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นหลายรูปแบบ เช่น เรื่องราวประวัติศาสตร์ เป็นคำทำนายถึงอนาคต เป็นคำอธิษฐานอ้อนวอน เป็นบทกลอน เป็นจดหมาย เป็นหลักเกณฑ์ กฎหมาย เป็นคำเตือนสติ เป็นจดหมายเวียน เป็นคำเปรียบเทียบ อุปมาอุปมัย เป็นบทละคร เป็นต้น พระคำทุกๆบทความมีความหมาย มีสาระสำคัญ ในโลกนี้มีภาษาเป็นอันมาก และไม่มีภาษาใดๆที่ปราศจากเนื้อความ (1 โครินธ์ 14:10) เมื่อเราอ่านพระคำ เราต้องรู้ว่าพระคำตอนนั้นต้องการสื่ออะไร ว่าอย่างไร เช่นอ่านเรื่อง บุตรน้อยหลงหายในลูกา 15 เราก็ต้องรู้เรื่องราว พออ่านจบก็สามารถเล่าเรื่องให้คนฟังได้ อ่านสดุดี 1 จบก็ต้องบอกได้ว่า บทกลอนตอนนี้พูดถึงเรื่อง คนอธรรมและคนชอบธรรมว่าแตกต่างกันอย่างไร ตามที่พระคัมภีร์เขียนไว้ ขั้นตอนนี้สำคัญมาก คือว่ากันตามเนื้อผ้า อย่าไปตั้งธงเอาไว้ก่อนตามใจเรา แล้วอ่านโดยดัดคัดโง้งเรื่องมาเข้าทางเรา เมล็ดที่ตกที่ดินดี คือคนที่ฟังแล้วเข้าใจมิใช่หรือ ( มัทธิว 13:23)
(3) แปลความ
พระคัมภีร์หลายตอน ไม่ต้องแปล เวลาเราแปลเรื่องที่พระวิญญาณผู้เขียนมิได้มีพระประสงค์ให้แปล การแปลความของเราก็ไร้น้ำหนัก และเลอะเทอะ เช่น กิจการ 12 เล่าว่า เปโตรถูกจับขังคุก โดยเฮโรด มีโซ่ 2 เส้นล่ามอยู่ซ้ายขวา นอนอยู่ในคุกระหว่างทหาร 2 คน ถ้านักเทศน์จะแปลว่า เฮโรดคือพญามาร ทหาร 2 คือสมุน ท่านก็ต้องไปแปลว่า โซ่ 2 เส้นคืออะไร แล้วก็ต้องไปแปลต่อไปว่า คุกนั้นมีประตู 4 บานคืออะไร แปลไปแปลมาก็ไปกันใหญ่ คนฟังก็ต้องตั้งคำถามว่า ผู้แปลรู้ได้อย่างไรถึงได้แปลอย่างนั้น แทนที่เราไปแปลให้ปวดหัว เราทุกคนย่อมยอมรับได้ว่า เปโตรซึ่งเป็นหัวหน้าสาวกสมัยนั้นถูกจับ และจำขังในคุกชั้นในที่สุด ยากที่ใครจะเข้าไปช่วยท่านได้ แต่ในความยากที่สุดนั้นพระเจ้าก็ทรงฤทธิ์ช่วยท่านได้อย่างอัศจรรย์ ซึ่งหมายความว่า เรื่องยากใดๆที่ศัตรูข่มเหงเรา ก็หาได้ยากเกินกว่าที่พระเจ้าจะช่วยได้ไม่ บางเรื่องเช่นเรื่องบุตรน้อยหลงหาย จำเป็นต้องแปลความ เช่น พ่อเปรียบได้กับพระบิดา บุตรหลงหายคือเรา ถ้าไม่แปลพระคำตอนนี้อย่างนี้ พระคำก็ไม่มีประโยชน์ เรื่องบุตรน้อยก็เป็นแค่เรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับใคร การแปลความตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างถูกต้อง นำเราไปสู่หัวข้อต่อไป
(4) ประยุกต์
แค่แปลความยังไม่พอ เราต้องนำพระคำตอนนั้นๆมาประยุกต์ใช้กับตัวเราด้วย ลองตั้งคำถามตัวของเราว่า พระคำตอนนี้เป็นบทเรียนอะไรกับตัวของเรา พระเจ้าต้องการสอนอะไรเราในปัจจุบัน หลายคนอ่านพระคำแล้วก็หยุดอยู่แค่ แปลความหมายออกมา แต่ไม่เคยคิดว่า พระคำข้อนั้นๆที่ตนอ่าน มีความหมายอะไรกับตน การรู้เรื่องและแปลความ ถ้าหยุดอยู่แค่นั้นก็ไร้ประโยชน์ เหมือนอาหารที่เรากินเข้าไปในร่างกาย ย่อยสลายได้ แต่ดูดซึมเข้าไปในร่างกายหรือนำไปใช้ให้มีการสันดาปและเกิดพลังในเซลล์ไม่ได้ หากอ่านเรื่องพระเจ้าช่วยเปโตรออกจากคุก ในขณะที่อ่าน เราอาจมีปัญหาในครอบครัว หนักเกินแก้ไข เราติดอยู่ในมุมอับ ขยับเขยื้อนไม่ได้ เรานำเรื่องนี้มาและแปลความว่า การอธิษฐานร่วมกันของพี่น้องสามารถช่วยเราได้ เราก็นำปัญหานั้นมาสู่กลุ่มอธิษฐาน ด้วยความเชื่อและวางใจพระองค์ พระเจ้าจะทรงช่วยไรได้ เราต้องไร้กังวลเช่นเดียวกับเปโตร นอนหลับอยู่ในคุก อย่างนี้ก็จะเกิดประโยชน์ สอนเราทั้งการลงมือกระทำบางอย่างกับปัญหา คือหนึ่งเสนอให้กลุ่มอธิษฐานเผื่อ และสองก็สอนให้วางใจพระเจ้า
กินข้าวกินปลาเราต้องได้สารอาหาร แล้วเราจะเติบโตแข็งแรงมิใช่หรือ กินพระคำก็เหมือนกัน กินให้ได้สารอาหาร เราถึงจะโต จริงไหม?
| |
|
|
|