|
เพราะรักจึงตีสอน
ศ.บ
ผมโตขึ้นมาในบ้านที่พ่อแม่เป็นคนเข้มงวดกับลูก ทั้งพ่อและแม่เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียน คุณแม่เคยสอนที่โรงเรียนศึกษากุมารี ส่วนคุณพ่อเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนชูศิลป์วิทยา เรามีพี่น้อง 6 คน ผมเป็นคนกลาง ไม่มีลูกคนไหนในบ้านที่ไม่เคยถูกท่านตี ตอนเรียนอยู่โรงเรียนศรีธรรมราชวิทยา ที่นครฯ ผมเคยถูกอาจารย์โกศล วัฒกีเจริญ อาจารย์ใหญ่ ตีพร้อมกับเพื่อน ๆ เพราะไปโรงเรียนสาย มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เคยถูกอาจารย์อารีย์ เสมประสาท อาจารย์ใหญ่ตี คราวนั้นถูกตี พร้อมเพื่อน ๆ ทั้งชั้นเพราะเพื่อน ๆ แซวครูสาวที่มาฝึกสอนจนครูร้องไห้ ครูสมัยก่อนใช้ไม้เรียวตีลูกศิษย์เป็นปกติ ตอนถูกตี เราก็เอามือกอดหน้าอก ยืนนิ่งให้ท่านตีโดยไม่มีอาการหือ หรือดื้อรั้นแต่อย่างใด
1. ตีเพราะเป็นลูก
ฮีบรู 12: 7 บอกว่า “ด้วยว่ามีบุตรคนใดเล่า ที่บิดาไม่ได้ตีสอนเขาบ้าง แต่ถ้าท่านทั้งหลายไม่ได้ถูกตีสอน เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ท่านก็ไม่ได้เป็นบุตร”
คุณแม่ท่านเปิดร้านเบเกอรี่ ขายขนมเค๊ก คุกกี้ ขนมผิง โดนัท เมื่อผมกลับมาจากโรงเรียน มักเห็นท่านนั่งหน้าเตามีกระทะร้อน ๆ ทอดขนม ท่านสั่งว่าไปอยู่ที่ไหน ๆ อย่าไปไกลเกินรัศมี เมื่อท่านเรียกใช้ ขอให้ท่านใช้ได้ ท่านมักจะเรียกให้ผมไปซื้อไข่ไก่ เอามะพร้าวไปขูดที่ตลาดท่าม้า ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้านเรา ครั้งหนึ่ง ผมไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อน ๆ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ที่อยู่ตรงกันข้ามบ้านเรา เสียงเตะฟุตบอล ปัง ปัง ปัง มันเร้าใจผม เพื่อน ๆ เขาสนุกกัน เฮ กัน แต่ผมรับคำสั่งจากคุณแม่ท่านแล้วว่า ถ้าท่านเรียกใช้ผมเมื่อใด ผมจะขานและไปทำตามที่ท่านต้องการทันที หลังจากเล่นฟุตบอลกลับมา ท่านถามผมว่าผมไปไหนมา ทำไมเรียกตั้งนานไม่ตอบ ผมรับว่าตัวเองขัดคำสั่ง สนามฟุตบอลมันไกลเกินรัศมีเสียงเรียกของท่าน ผมจึงไม่ได้ยิน ท่านสั่งให้ผมไปเด็ดก้านชามา พร้อมทั้งสำทับว่า เลือกเอาก้านโต ๆ ถ้าเอาก้านเล็กเดี๋ยวจะไปเลือกเอง ผมต้องเลือกก้านชา กิ่งโตมาให้คุณแม่เฆี่ยนตัวผมเอง ตั้งแต่เล็กจนโต ผมถูกท่านตีหลายครั้ง ครับ หลายครั้งมาก ตอนถูกตีผมไม่เข้าใจ ต่อมา ผมรู้แล้วว่า ท่านสอนให้ผมมีวินัย ให้รับผิดชอบหน้าที่การงาน เราได้รับการสอน เพราะเราเป็นลูกของท่าน ไม่ใช่ลูกชาวบ้าน
2. ตีเพราะรัก
คนไทยดั้งเดิม สอนเรื่องการปั้นลูกสอดคล้องกับพระคัมภีร์ เราว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” พระธรรมสุภาษิต 13:24 กล่าวว่า “บุคคลที่สงวนไม้เรียว ก็เกลียดบุตรชายของตน แต่ผู้ที่รักเขาพยายามตีสอนเขา”
ถามว่าทำไมยอมให้ท่านตีโดยดี ผมคิดว่าในครอบครัว เราตอบได้เหมือนกันหมด คือ ลึก ๆในใจ รู้ว่าท่านรักเรา ท่านคลอดเรามา ทำงานเลี้ยงดูเราด้วยความเหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก เหงื่อไหลไคลย้อย ขณะที่เรายังหาสตางค์ไม่ได้สักบาท พ่อและแม่คือผู้หาอาหารมาให้เราได้กินทุกมื้อ หาเสื้อผ้า รองเท้า ที่หลับที่นอนให้เรา เราต้องพึ่งพาอาศัยท่านทุกสิ่ง เมื่อท่านสอนให้ลูกต่อสู้กับชีวิต ทำงานแบบปากกัดตีนถีบ ไม่ต้องสาธยาย เราเห็นอยู่ตำตาทุกวัน ถึงวันนี้ ผมมองเห็นว่า ความยากจนของพ่อแม่ บ่อยครั้ง กลับกลายเป็นพร เพราะสอนลูกง่ายขึ้นเยอะ ตอนที่ถูกตี ผมไม่เคยหือ ขึ้นเสียง หรือแก้ตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมรู้ว่าท่านมีสิทธิอำนาจ แต่ผมไม่ค่อยรู้หรอกว่านี่คือความรัก ซาโลมอนกล่าวว่า “ผู้ที่รักเขาพยายามตีสอนเขา” ผู้เขียนฮีบรูก็กล่าวเช่นเดียวกัน “องค์พระผู้เป็นเจ้าตีสอน ผู้ที่พระองค์ทรงรัก” (ฮีบรู 12:6) และพระองค์ทรงมอบหมายงานนี้ให้พ่อแม่ ตีเพื่อดัดนิสัยลูก ริชาร์ท ฟูเกท กล่าวว่า เป้าหมายของการตีลูกไม่ใช่ ตีให้ได้แผล ตีให้น้ำตาตก ไม่ร้องไม่เลิกตี หรือตีเพราะระบายความโกรธแค้น แต่ตีเพื่อสยบการดื้อรั้นของลูก เพื่อให้เขาเชื่อฟังต่างหาก เมื่อลูกสำนึกผิด พ่อแม่ต้องอภัย สำแดงความรักกับลูก ตีเพราะรักเขา ไม่ปรารถนาให้เขาถูกสังคมตีเขาในอนาคต เจมส์ ดอบสัน นักจิตวิทยาคริสเตียน กล่าวว่า เป็นความรักแบบไหนกันที่ ยอมให้คนที่เรารัก ทำผิด
3. ตีช่วงเวลาหนึ่ง
“บิดาที่เป็นมนุษย์ ตีสอนเราเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย” (ฮีบรู 12:10)
ผมรู้สึกว่า สมัยผมเป็นเด็กคุณแม่ท่านดุมาก ดุจนผมกลัว ผิดกับตอนที่ท่านมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านกลายเป็นคนละคนกับแม่ในอดีต มีช่วงเวลาของการตีสอนลูกด้วยไม้เรียว เจมส์ ดอบสัน กล่าวว่า ไม่เหมาะที่ตีลูกด้วยไม้เรียว เมื่อเขาเข้ามาสู่วัยรุ่น เพราะจะทำให้เขาขื่นขม ควรใช้วิธีอื่นมากกว่า สุภาษิต 19:18 ว่า “จงตีสอนบุตรของตนเมื่อมีความหวัง อย่าจงใจให้เขาถึงความพินาศ” คนไทยเราว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” การตีสอนลูกง่ายขึ้นอย่างมากเมื่อเขายังเยาว์วัย ฐานของวินัยเริ่มมาตั้งแต่ลูกยังอยู่ในอ้อมอก ตั้งแต่เขายังไม่ได้ออกไปฟังเสียงของเพื่อนฝูงภายนอก ผมเคยได้ยิน พวกเพื่อน ๆ ของลูกพูดเชิงดูถูกว่า “แกเป็นลูกอ่อนแอ แบบไหนกัน ทำไมต้องเชื่อฟังพ่อแม่” ถ้าลูกเชื่อเพื่อน เห็นดีเห็นงามกับเพื่อนฝูง โดยที่มิได้มีนิสัยเชื่อฟังติดตัว เขาก็จะแข็งข้อกับพ่อแม่ ตรงกันข้าม ดอบสัน ยังกล่าวต่อไปว่า ถ้าเด็กเชื่อฟังพ่อแม่ ในบ้านได้ เขาจะเชื่อฟังครูที่โรงเรียน รัฐบาล และศิษยาภิบาลได้
4. สอนด้วยเหตุผล
“บุตรชายของเราเอ๋ย อย่าละเลย การตีสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้า และอย่าท้อถอยเมื่อพระองค์ทรงตีสอนนั้น” ( ฮีบรู 12: 5) พระคัมภีร์ภาษาไทย ใช้คำดียิ่ง “ตี” และ “สอน” การปั้นคนต้องมีทั้งสองอย่าง ตี เป็นการบีบบังคับ สอน เป็นการชี้แจงให้เข้าใจเหตุผล ผมพูดมาแล้วว่า เด็กเมื่อเขายังไม่เข้าวัยทีน อายุไม่เกิน 13 ปี การปั้นเขา พระคัมภีร์สอนให้เราใช้ไม้เรียว เหมือนที่คุณแม่ทำกับผม แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ การสอนด้วยเหตุด้วยผล เป็นวิธีที่ดีกว่า ปัญหาคือวัยก้ำกึ่ง ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่เราเรียกว่าวัยทีน (13-19 ปี) จะใช้วิธีไหน นี่คือช่วงเวลาที่เขาเตรียมตัวก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ เราเลิกใช้ไม้เรียว แต่การสร้างวินัย พร้อมด้วยเหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ ริชาร์ท ฟูเกท เขียน ชาร์ท ให้เราเห็นว่า การควบคุมบังคับ ลูกในวัยเด็ก ด้วยไม้เรียว เป็นสิ่งจำเป็น เพราะลูกเล็กยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด นี่คือช่วงเวลาของการใช้กฎ สั่งให้ทำอะไร และสั่งไม่ให้ทำอะไร ซึ่งไม่ยากเมื่อไม้อ่อน และลูกเชื่อฟัง ไม่ใช่ เพราะพ่อแม่มีเหตุผลดี แต่เพราะเป็นคำสั่ง พอเขาเข้าสู่วัยทีน เราไม่ควบคุมเขาด้วยกฎอีก แต่ปกครองจิตใจของเขา โดยชี้แจงให้ลูกทราบว่า ทำไมลูกจึงทำอย่างนี้ และไม่ทำอย่างนั้น ลูกเรียนการยอมฟังมาจากใจ ท่านยังแจงให้เห็นชัดขึ้นว่า ไม่มีอะไรที่เป๊ะ ๆ เด็กหัวแข็ง (Strong will child) อาจใช้เวลาในการควบคุม(Control) มากกว่าเด็กหัวอ่อน (Submissive child) แต่สิ่งที่เป็นจริงเสมอ คือ เมื่อเขาโตขึ้น พ่อแม่ต้องค่อย ๆ เปลี่ยนจากการออกคำสั่งบังคับ มาเป็นการชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล
5. พรของการอยู่ในโอวาท
เอเฟซัส 6:1-4 ผมจะขอแปลความเป็นข้อ ๆ
ข้อ 1 “ฝ่ายบุตรจงนบนอบเชื่อฟังบิดามารดาของตนในองค์พระผู้เป็นเจ้า” เปาโลสั่งลูก ๆ ทั้งหลายให้นบนอบเชื่อฟัง ( Obey) นี่คือรากฐานการปั้นลูกตอนเด็ก ลูกเรียน การเชื่อฟังคำสั่ง ไม่ดื้อรั้น“เพราะกระทำอย่างนั้นเป็นการถูก” เปาโลสนับสนุนว่า นี่คือวิธีที่ถูก “พ่อแม่ควบคุม บัญชา ออกคำสั่ง ลูกเชื่อฟัง” ถ้าพ่อแม่ไม่บังคับตีสอน ลูกจะไม่มั่นคง โดดเดี่ยว เหมือนเด็กถูกปล่อย ไม่มีใครเอาใจใส่ การตีลูกไม่ได้ทำให้เขาว้าเหว่เลย เขากลับอบอุ่นต่างหาก เพราะลึก ๆ รู้ว่าพ่อแม่เอาใจใส่ตน ในโบสถ์ก็เหมือนกัน ถ้าสมาชิกทำผิด ไม่ถูกตีสอน เขาจะว้าเหว่
ข้อ 2 “จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า” เปาโลสั่งลูก ๆ ทั้งหลายให้ ให้เกียรติ (Honor) พ่อแม่ นี่คือวาระปั้นลูกตอนโตขึ้น ลูกเรียนยกย่อง ให้เกียรติ นับถือสิ่งที่ท่านสอนสั่ง ข้อ 4 “ฝ่ายท่านผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของตนให้เกิดโทสะ” เปาโลแนะให้พ่อแม่สอน ชี้แจงเหตุผล เตือนสติ ตามหลักพระคัมภีร์ อย่าใช้วิธีด่าลูก หรือสบประมาทลูก “พ่ออย่ายั่วลูกของตนให้เกิดโทสะ” โคโลสี 3:21 กล่าวว่า “อย่ายั่วบุตรของตนให้ขัดเคืองใจ เกรงว่าเขาจะท้อใจ” ฟูเกท ขยายความว่า การยั่วให้ลูกโกรธ คือพูดให้เจ็บแสบ (Irritate) เช่น “แกมันโง่ ทำอะไรไม่เคยถูก” “เลวมาก ฉันไม่รู้จะทำยังไงกับแก” ตรงกันข้าม เปาโลเตือนให้พ่อแม่อบรมลูกด้วยการสอน เตือนสติ ตามหลักพระคัมภีร์ ลูกที่ให้เกียรติ เชื่อฟังเหตุผลของพ่อแม่ พระธรรมสุภาษิตกล่าวว่า เขาจะงามสง่า ดูดี น่ายกย่อง เหมือนสวมมงกุฎ ( สภษ 1:8-9) ช่างต่างจากความคิดของหนุ่มสาวหลายคนในปัจจุบัน ที่คิดว่า ลูกเชื่อฟัง คือเด็กอ่อนแอ
ข้อ 3 พูดถึงรางวัลของลูกที่อยู่ในโอวาท ว่าเมื่อเขาเชื่อฟัง เขาจะไปดีมาดี จะเป็นคนมีอนาคตสดใส ทำมาค้าขึ้น ปลอดภัย ประสบความสำเร็จ อายุยืนเสียด้วย ลูกที่เชื่อฟัง “ปีเดือนแห่งชีวิต จะมากหลาย” (สภษ 4:10) โยเซฟลูกในโอวาทของยาโคบ ก้าวไกล ถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีของอียิปต์ ทั้งได้ช่วยครอบครัวให้รอดจากการกันดารอาหารครั้งใหญ่ ซามูเอล ลูกของเอลคานา และนางอันนา เป็นลูกที่เชื่อฟังมาตั้งแต่เด็ก พระเจ้าใช้ให้ท่านเป็นผู้เผยพระวจนะผู้เจิมกษัตริย์ถึงสองพระองค์ คือกษัตริย์ซาอูล และกษัตริย์ดาวิด และพระเยซูเอง แม้พระองค์เป็นพระบุตรพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นลูกที่ดีที่สุด ทรงเป็นแบบอย่างการยอมฟังพ่อแม่ฝ่ายเนื้อหนังอย่างหาที่ติมิได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าพระองค์เป็นพรแก่มวลมนุษย์แค่ไหน
ขอพระเจ้าอวยพรลูก ๆ ทั้งหลายในวันเด็ก ปีนี้ และอวยพรพ่อแม่ทั้งหลายด้วย
|
|
|