ยามเย็นอย่าหยุด

ศบ.

 

 “เวลา​เช้า​เจ้า​จง​หว่าน​พืช​ของ​เจ้า​และ​พอ​เวลา​เย็น​ก็​อย่า​หด​มือ​ของ​เจ้า​เสีย เพราะ​เจ้า​หา​ทราบ​ไม่​ว่า​การ​ไหน​จะ​เจริญ การ​นี้​หรือ​การ​นั้น หรือ​การ​ทั้ง​สอง​จะ​เจริญ​ดี​เหมือน​กัน”  (ปัญญาจารย์  11:6 )


                        

 

 ก่อนเขียนบทความนี้  ผมเอากราฟ  เรื่องความแข็งแกร่งของกระดูกคนเรา ทั้งชายและหญิง  มาให้เราดู  พร้อมทั้งอธิบายให้ฟังโดยสังเขปเสียก่อน  ว่ากันว่า  มวลกระดูกของคนเรา  ทวีขึ้นอย่างรวดเร็วในวัยรุ่น  ผู้หญิงอายุ 18  ปี  ผู้ชายอายุ 20  ปี  จะมีมวลกระดูก มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์  และมันจะทวีขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุ 30 – 34  ปี  ฮาร์โมน  เอสโตรเจนจะช่วยให้กระดูกแข็งแกร่งยิ่งขึ้น  พอผู้หญิงมาถึงวัยหมดประจำเดือน  ( Menopause )  ฮอร์โมนตัวนี้จะลดลง ไม่กี่ปีหลังประจำเดือนหมด  มวลกระดูกจะถูกดึงออกไป  อย่างรวดเร็ว  พอเข้าสู่วัยชรา  มวลกระดูกกระจะลดลงไปด้วย อย่างช้า ๆ  ผู้หญิงลดลงมากกว่าชาย โดยเฉพาะถ้าไม่มีฮอร์โมนมาเสริม 

 

          คนเรานี่  มีพละกำลัง และความแข็งแกร่งของร่างกาย   มากน้อยตามวัย  คนหนุ่มก็แข็งแรง  กระฉับกระเฉง  กระโดดโลดเต้นได้อย่างฉับไว  อายุมากขึ้น  ความแข็งแรงของร่างกายก็ลดน้อยถอยลงไปด้วย 

    

      (1) เวลาเช้าเจ้าจงหว่าน

 

           “เวลาเช้าเจ้าจงหว่านพืชของเจ้า”   

 

           คนเราแต่ละคน  ทั้งชายและหญิง มี  “ยามเช้า”  ของตน  ยามที่เราแข็งแรง  กระปรี้กระเปร่า  ใบหน้าเต่งตึง หน้าตาเปล่งปลั่ง สดใส สดสวย  หล่อเหลา  แข็งแรง  มีกำลังวังชา ซาโลมอนเรียกว่า “ยามเช้า”  ซาโลมอน บอกว่าให้เราหว่าน  ซึ่งคงมิได้หมายถึงแค่ทำเกษตรกรรม  คือไปหว่านพืช  ปลูกไม้ผล แต่ให้เราลงทุนลงแรงในสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลอันดี  สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น   

 

              พระเยซูเปรียบการประกาศพระกิตติคุณ  กับการหว่านพระวจนะคำเข้าไปสู่จิตใจของคน (มัทธิว 13:18-23) เปาโลว่า“ข้าพเจ้าปลูก อพอลโล รดน้ำแต่พระเจ้าทรงกระทำให้เติบโต” (1คร  3:6) พระเจ้าสอนให้เราหว่าน ปลูก ลงแรง ในวาระที่เรามีกำลัง ในยามเช้าของเรา หนุ่มสาว วัยกลาง คน  ผู้มีกำลังทั้งหลาย ขณะนี้เป็นยามเช้าของท่าน พูดก็เก่ง ร้องเพลงก็เพราะ   หน้าตาของท่านก็ชวนมอง  ความสดใสของท่าน ดึงดูดความ สนใจของคนวัยเดียวกันได้ดีเหลือเกิน  แค่ท่านเดินเข้าไปในสังคม  คนก็ให้ความสนใจท่านแล้ว ท่านเอายามเช้าของท่านไปทำอะไร เล่นเกมส์ ติดบอลล์  เถิดเทิง  ร้องรำทำเพลง  มุ่งมั่นหาความสุขสบายให้ตัวเอง ไม่คิดช่วยอะไรใคร  ไม่เคยคิดเป็นพยานให้เพื่อนฝูงรอบตัวท่านมารู้จักพระเจ้า ไม่เคยชวนใครมาโบสถ์  ไม่ได้คิดพัฒนาใครทั้งสิ้น  ทั้ง ๆ  ช่วงเวลานี้เป็น ยามเช้า  คือวัยอันแข็งแกร่งของท่าน พระธรรมปัญญาจารย์  เตือนท่านว่า  “เวลาเช้าเจ้าจงหว่านพืชของเจ้า” ท่านใช้เวลาเช้าของท่านหว่านอะไรลงไปในจิตใจของใคร ใครมีเมล็ดพันธุ์แห่งพระวจนะคำ ที่ท่านหว่านบ้าง  ลองนั่งลงทบทวนดู

 

 เวลาเช้า  ยังหมายถึงเวลาที่มีแดดดี  บรรยากาศชวนทำงาน  เมฆไม่ครึ้ม  ฝนไม่ตก  พายุไม่มา  ฟ้าสดใส  อากาศสดชื่น  แลเห็นอะไร ๆก็ชัด เจน  เป็นช่วงน่าทำงาน   ผมเคยไปยืนแจกใบปลิวปากซอยอ่อนนุช  ตอนเช้า  คนกรุงเทพฯ นี่  ขยันแท้  ทั้งรถทั้งคนแห่กันออกไปทำงานตอนเช้า  เหมือนฝูงกาบินออกจากรัง  ผมเคยไปนอนที่เนินสว่าง  พิษณุโลก  ตอนเช้า  ชาวนาชาวสวน  ขับรถอีแต๋น ออกไปทำงาน  พระอาทิตย์เพิ่งขึ้น  น่าทำงาน  บรรยากาศรอบตัวเราวันนี้  ก็เป็นเช่นเดียวกัน  น่าประกาศพระกิตติคุณ  เขาว่าไม่มีช่วงเวลาใดที่สังคมตอบรับพระกิตติคุณ  เท่ากับช่วงที่คนมีทุกข์   พระเยซูทรงทอดพระเนตรเห็นสิ่งนี้     เมื่อพระองค์เสด็จดำเนินไปตามนคร  และหมู่บ้านโดยรอบ  ทรงเห็นคนน่าสงสาร  พวกเขาถูกรังควาน  และไร้ที่พึ่งดุจแกะไม่มีผู้เลี้ยง  พระองค์มองพวกเขาเหมือนข้าวในนา  สุกงอม  พร้อมเก็บเกี่ยว  ครับนี่คือยามเช้าของท่าน

 

           ซาโลมอน  กล่าวไว้ในพระธรรมสุภาษิตว่า “บุตรชายผู้หลับในฤดูเกี่ยว    


                                        

 

ก็นำความอับอายมา” ( สุภาษิต 10:5 ) ฤดูเกี่ยว  คือ เวลาที่ข้าวในนาสุก   บ้านผมมีนา   ผมเคยไปฝึกเกี่ยวข้าวกับชาวนา  คนนครฯ เขาใช้แกะ  ไม่ใช้เคียว เกี่ยวข้าว  ข้าวสุกงอม  ถ้าไม่เกี่ยว เดี๋ยวมันก็ร่วงหล่นเสียของ  คนในสังคมที่เปิดใจออกอยากรู้จักพระเจ้า  มิได้เปิดใจกว้างขวางอยู่อย่างนั้นตลอดไป  มันเป็นช่วงเวลา  มันเป็นโอกาสเป็นนาทีทอง  พลาดก็พ้นไปเอาคืนมาไม่ได้   ครับ  มันเป็น  “ยามเช้า” เป็นโอกาสที่อยู่ไม่นาน  ใช่ว่าท่านพอเวลาเย็นก็อย่าหดมือจะล็อกเวลาเอาไว้ได้  เช้า สาย บ่าย เดี๋ยวก็เย็น  ปัญญาจารย์ เตือนท่านว่า “เวลาเช้าเจ้าจงหว่านพืชของเจ้า”  ยามเช้าของท่าน ท่านไปทำอะไรอยู่

 

         (2)  พอเวลาเย็นก็อย่าหดมือ

 

               ผมอ่านต่อนะครับ “และพอเวลาเย็นก็อย่าหดมือของเจ้าเสีย” 

   

              “เวลาเย็น” จวนค่ำแล้ว  พระอาทิตย์อัสดง  ดวงตะวันกำลังลดระดับลง  ใกล้ลับขอบฟ้า   ฝูงกากำลังจะบินกลับรัง   ความมืดกำลังจะมาปกคลุมในไม่ช้า   ถ้าท่านทำงานมาแต่เช้า  ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ท่านกำลังเมื่อยล้า  อ่อนแรง  มองดูกราฟเรื่องมวลกระดูก   ความแข็งแกร่งอย่างวัยหนุ่มหดหายไปเยอะ  เขาว่ามันลดลงเรื่อย ๆ  แม้ลดลงช้า ๆ  บางคนอยู่ในช่วง  บ่ายสามโมง  บางคนสี่โมง  บางคน ห้าหกโมงเย็น  ดีนะที่ยังมีมวลกระดูกยืนอยู่ได้   ยังไม่ต้องมีเปลพยาบาลมาหาม  ท่านยังไม่นั่งรถเข็น ท่านจะรีบเก็บข้าวเก็บของทำไม ท่านจะเก็บเคียว  เก็บเครื่องไม้เครื่องมือ   นั่งพัก  รอรถอีแต๋นมารับท่านกลับบ้านแล้วหรือ   ท่านจะรีบเกษียณตัวเองแล้วหรือ  ปัญญาจารย์เตือนท่านว่า  “และพอเวลาเย็นก็อย่าหดมือของเจ้าเสีย”  ภรรยาและผม  เคยไปหาอาหารทานที่ศูนย์การค้า  เขาว่าเขาปิดสามทุ่ม  เรามีธุระไปถึงที่นั่นตอน สองทุ่มเศษ  จะหาอะไรกินมื้อเย็น   ร้านอาหารแกปิดเป็นแถว  ปิดเกือบหมดทุกร้าน  ผมก็สังเกตว่า  คนขายส่วนมากเป็นลูกจ้าง  ไม่ใช่เจ้าของ  พอตกเย็น ก็หดมือเสียแล้ว  คงไม่ใช่ใจเจ้าของร้าน  ยังไม่หมดเวลา ลูกค้ายังมาหาของกิน  ปิดร้านทำไม  ปัญญาจารย์กล่าวว่า  “พอเวลาเย็นก็อย่าหดมือของเจ้าเสีย”

 

               มีวัยใดของเราหรือที่ไม่เหมาะประกาศพระกิตติคุณ   มีวัยใดของเราหรือที่ เราควรรามือจากการหว่าน   ใครเป็นคนบอกท่านว่า “ยามเย็น”  ไม่เหมาะที่จะทำงาน  ยามเย็น  โพล้เพล้  แดดร่ม  ลมตก  ไม่ร้อนเปรี้ยงเหมือนเช้าหรือเที่ยง  ถ้าเราไม่หดมือของเราเสีย  เราก็จะทำงานรับใช้พระเจ้าได้ไม่น้อยเช่นเดียวกัน  ผมเคยเป็นผู้แทนขายยา  ผมไปขายยาหมอตามโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ  ช่วงที่ผู้แทนขายกรูกัน


                                     

 

เข้าไปพบหมอมากที่สุด  คือ  ช่วงเช้าหรือเที่ยง หลังหมอออกตรวจคนไข้    เสร็จงานตรงนั้นก็ดูเหมือนเสร็จแล้วสำหรับวันนั้น     ผู้แทนขายยาหลายคนรู้ดีว่า   ตนสามารถพบหมอได้ในยามเย็น  นอกเวลาตรวจไข้    หาหมอยากหน่อย   แต่ถ้าพบหมอก็มีเวลาได้คุยกันได้นาน ๆ  

 

           บรรยากาศของคนที่จะรับฟังพระกิตติคุณ  บางครั้งก็ไม่อำนวยกับเราเลย   พี่น้องรู้ดีว่า   คริสตมาสเป็นช่วงน่าประกาศ  คริสตมาสเป็นฤดูเกี่ยวของเรา  เป็น “ยามเช้า” ของเรา  “ อุ๊ย!  แต่วันนี้เราอยู่ในเดือนเมษายน  สัปดาห์หน้าก็จะถึงเดือนพฤษภาคม ฝนเดือนห้า ฟ้าเดือนหกกำลังจะเริ่มขึ้น เสียแล้ว  ยามเช้าพ้นไปแล้ว” หลายคนว่า นี่คือ “ยามเย็น”ของเรา  เราจึงปิดปากเงียบ  แต่ซาโลมอนเตือนเราว่า “พอเวลาเย็นก็อย่าหดมือของเจ้าเสีย”   ผมกำลังสอนหนังสือกิจการ   เปาโลออกไปเป็นมิชชั่นนารี  3 รอบ  ท่านขยันทำงานทุกวัน   ท้ายที่สุดท่านถูกจับ  คนยิวจะฆ่าท่าน  นี่คือ“ยามเย็น”  ของท่าน  ท่านน่าจะแก้คดีให้ตัวเอง เพื่อเอาตัวรอด  แต่ท่านกลับฉวยโอกาสประกาศให้มวลชนชาวยิวที่จะฆ่าท่านฟัง เต็ม ๆ  ทั้งเป็นพยานกับกษัตริย์   เมื่อพระองค์เปิดโอกาสให้ท่านแก้คดี   ยามเย็นท่านไม่ได้หดมือสักหน่อย

 

        (3) เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรดีกว่ากัน

 

  ซาโลมอน กล่าวต่อไปอีกว่า “เพราะเจ้าหาทราบไม่ว่าการไหนจะเจริญ การนี้หรือการนั้น หรือการทั้งสองจะเจริญดีเหมือนกัน”

  

             นี่คือเหตุผล   เพราะเราไม่รู้ว่า ไอ้ที่เราหว่านตอนเช้านั้นเกิดผลดี   หรือที่เราหว่านตอนเย็นนั้นดีกว่ากัน  เวลาที่ใคร ๆ เขาพากันรามือ  จะกลับบ้านนั้นดี   หรือทั้งสองอาจดีเหมือนกัน   พระคัมภีร์บางฉบับว่า “ไม่รู้ว่าข้างไหนจะดีกว่ากัน”  ผมเคยเขียนบทความ  ว่าโมเสส  มีอายุนาน 120 ปี  40 ปีแรก (ยามเช้าของท่าน)  ท่านอยากช่วยคนยิวที่อียิปต์   แต่ท่านล้มเหลว    40 ปีที่สอง (ยามสายถึงบ่ายของท่าน ) ท่านไปเลี้ยงแกะที่มีเดียน  สงบมาก ๆ แต่ไม่ช่วยใครเลย  40 ปีสุดท้าย (ยามเย็นของท่าน )  ท่านพาคนยิวออกจากอียิปต์  ข้ามทะเลแดง  รับพระบัญญัติที่ภูเขาซีไน  จัดระบบพลับพลา  รบชนะชาติอามาเลข  จัดระบบตุลาการ  ระบบสาธารณะสุข   ระบบการปกครองให้คนยิว การอัศจรรย์มากกมายเกิดช่วงนี้ ท่านเตรียมคนยิวเข้าคานาอัน  และเขียนพระคัมภีร์  5 เล่มที่เรากำลังถืออยู่ในมือ คือ ปฐมกาล  อพยพ  เลวีนิติ  กันดารวิถี  และเฉลยธรรมบัญญัติ   ยามเย็นของโมเสส  เมื่อท่านไม่ได้หดมือ  พระองค์โปรดให้เกิดผลยิ่งกว่ายามเช้าของท่านเสียอีก   โมเสส  ในช่วง40 ปีหลังของท่าน  ร่างกายของท่านไม่แข็งแรงเท่ากับโยชูวา   แต่ท่านมิได้หยุดรับใช้  พระธรรมสุภาษิต  10:5 กล่าวว่า  “บุตรชายที่ส่ำสมไว้ในฤดูแล้ง  ก็เป็นคนหยั่งรู้” ในฤดูแล้ง   งานของท่านเป็นงานสั่งสม  เสริมสร้างความพรั่งพร้อม   

 

            ครับ  ใครจะรู้  ผมพูดกับคนที่อยู่ในยามเย็น  งานรับใช้ตอนกระดูกของเรา ไม่แกร่งเท่าวัยหนุ่ม  ถ้าเราหว่าน  โดยการสั่งสม สั่งสอน ปั้นคน  สร้างคน ไม่หดมือในยามเย็น  อาจเกิดผลมากไม่แพ้งานในยามเช้า หรืออาจมากกว่าเสียด้วยก็ยังได้     “เพราะเจ้าหาทราบไม่ว่าการไหนจะเจริญ การนี้หรือการนั้น หรือการทั้งสองจะเจริญดีเหมือนกัน  เปาโลเตือนทิโมธี ไว้น่าฟังว่า  “จงขะมักเขเม้นที่จะทำการทั้งในขณะที่มีโอกาส (ยามเช้า)  และไม่มีโอกาส (ยามเย็น)”  (2 ทธ 4:2)     

                 

             ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ     

 

 



Visitor 147

 อ่านบทความย้อนหลัง