มิชชั่นนารีรุ่นแรก กับ พระราชวัง (2)


ศบ.


สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเขียนเรื่อง มิชชั่นนารีรุ่นแรก กับ พระราชวัง เนื่องในวาระพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 โดยเน้นความสัมพันธ์ ของหมอเฮาท์ กับพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 4 วันนี้ผมขอพูดเรื่องนี้ต่อครับ


เพื่อให้เราได้เห็นภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับ ฝรั่งในยุคนั้น ผมขอคัดเอาบทความของคุณ เปลว สีเงิน ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับ 4 พค 2019 ซึ่งท่านได้นำบทความของ คุณ Eddie Atsadang Yommanak มาให้อ่านดังนี้

ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ พม่าคือ "ชาติมหาอำนาจ" ในดินแดนแถบนี้ แล้วเวลาผ่านไป พม่าก็เริ่มเสื่อมลง แต่พม่ายังคงเข้าใจว่า "ตัวเองยิ่งใหญ่" เมื่ออังกฤษมีอำนาจเหนืออินเดีย พม่าจึงลองของ หวังจะแสดงฤทธานุภาพ เช่นเดียวกับจีน ที่ ณ เวลานั้น ความยิ่งใหญ่จากยุคที่เคยเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในอดีต ทำให้จีนยังคงลำพอง ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพัฒนาอะไรใหม่ขึ้นมาเลย
ผิดกับชาติตะวันตก........ โดยเฉพาะอังกฤษ ที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมสำเร็จ จนเป็นผู้นำแห่งเทคโนโลยี เมื่ออังกฤษมาถึง ทั้งจีนและพม่าจึงพ่ายแพ้อย่างยับเยิน เพราะประเมินตัวเองสูง แต่ประเมินอังกฤษไว้ต่ำ


ในขณะที่ไทยเรา..... หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว "สมเด็จพระเจ้าตากสิน" มากู้แผ่นดิน ตามต่อมาด้วย "พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี" ที่ตั้งใจทะนุบำรุงบ้านเมือง จากรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 ที่เป็นช่วงเวลาที่ฝรั่งเริ่มขยายอำนาจมาถึง ไทยก็เป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียไปแล้ว


ในหลวงรัชกาลที่ 4 บวชเรียนอยู่หลายสิบปี ศึกษาศิลปวิทยาทั้งไทยและเทศ จนเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เมื่อขึ้นครองราชสมบัติ ก็จ้างฝรั่งมาทำงาน รวมทั้งจ้างฝรั่งมาสอนภาษาและศิลปวิทยาการสมัยให้กับพระราชโอรสและพระราชธิดา ข้าราชบริพาร


เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ครองราชย์ และมีอำนาจเต็มเมื่อพระชนมพรรษา 20 ก็ทรงรอบรู้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่เรียบร้อยแล้ว จนมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ทรงได้รับการยกย่องจากชาติตะวันตก ว่าพระองค์เป็น "พระมหากษัตริย์ที่สมาร์ทที่สุด" ในเอเชีย "สมาร์ท" ในที่นี้หมายถึง ความรู้ความสามารถและวิสัยทัศน์ รวมทั้งหมายถึงการแต่งกาย และการเข้าสังคมแบบชาวตะวันตก ทรงไม่ได้รับมือมหาอำนาจของโลกด้วยการทหาร อย่างจีนและพม่า แต่ทรงใช้วิธีพัฒนาประเทศและบุคลากรให้ทันสมัยเทียมหน้าฝรั่ง รวมทั้งทรงใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการต่อกรกับมหาอำนาจฝรั่ง


ความสามารถทางการทูตของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ชัด ทั้งการเดินทางไปเจรจาทางการทูตด้วยพระองค์เอง ทั้งส่งพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเป็นตัวแทนพระองค์

ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้ว ว่า มิชชั่นนารีรุ่นแรก เข้ามา ก็นำวิชาแพทย์เข้ามาช่วยรักษาโรค ปลูกฝี ผ่าตัด แปลพระคัมภีร์ พิมพ์ออกไปแจก สอนวิทยาศสตร์ และภาษาอังกฤษให้บุตรธิดาเจ้าขุนมูลนาย โดย พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้จัดให้

หมอเฮาท์เล่าว่า “ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้พบเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ร 5) เมื่อทรงพระเยาว์บ่อยนัก เพราะพระองค์อยู่ในความดูแลของ มิสซิสเลียวโนเวนส์ ครูชาวอังกฤษ และ นาย แชนเลอร์ ซึ่งเดิมเป็นผู้ประกาศ ที่เป็นฆราวาสของแบบติส พระองค์ได้เติบโตขึ้นในระหว่างที่ข้าพเจ้าไปอยู่ต่างประเทศ เป็นเวลานานถึง 3 ปี” ในพระราชพิธีขึ้นเสวยราชย์ ของ ร. 5 ได้เริ่มเอาวิธีการอย่างใหม่มาใช้ คือ การเชิญผู้แทนราชการจากประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาร่วมพิธีด้วย หลังจากเสร็จพิธี พวกมิชชั่นนารีได้ร่วมกันไปถวายคำนับพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ โดยผ่านกงสุลสหรัฐ พวกเขาได้รับการต้อนรับจากพระมหากษัตริย์เป็นอย่างดี พระองค์ทรงสนทนาด้วย ขณะ ร.5 ขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา มีสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รัฐบุรุษผู้สามารถและสัตย์ซื่อ สำเร็จราชการแทนพระองค์


แดเนียล แมคกิลวารี เดินทางจากอเมริกา มาถึงเมืองไทย เมื่อ 20 มิย. 1858 สมัยนั้นก็ใช้เวลา 100 วัน ในขณะที่ทุกวันนี้ บินจากอเมริกามาไทยก็แค่วันเดียว ท่านพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ลืมบอกไป แดเนียล แมคกิลวารี สมรสกับลูกสาวของหมอบลัดเลย์ แดเนียล แมคกิลวารี เป็นผู้ประกาศ ขณะที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้พบกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ ญาติ และบริวารของท่าน ที่มาพักแรมอยู่ที่วัดแจ้ง หมอบลัดเลย์ สนิทสนมกับเจ้าเมือง ทั้งสนใจเมืองเชียงใหม่ด้วย ตอนนั้นเชียงใหม่ปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ทุก ๆ 3 ปี จะลงมากรุงเทพฯครั้งหนึ่งเพื่อถวายเครื่องบรรณาการ ถือน้ำพระพิพัฒน์ สัตยาต่อพระเจ้าแผ่นดินไทย เป็นเจ้าเหนือหัวของตน หลังงานสมรส แดเนียล แมคกิลวารี สนใจการขยายงานพันธกิจในเชียงใหม่ จึงเสนอเจ้าเชียงใหม่ ที่มายังกรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าเมืองก็ไม่ขัดข้อง


20 พย. 1863 แมคกิลวารี ก็ออกเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ ใช้เวลา 49 วัน ทุกวันนี้เครื่องบินใช้เวลา ชั่วโมงเดียว ครั้งนี้ ท่านขึ้นไปเพื่อสำรวจที่ทางว่าจะทำงานพันธกิจอย่างไร หลานชายเจ้าเมือง ไม่รู้จักท่านมาก่อน อึดอัดที่จะต้อนรับขับสู้ เพราะการมาคราวนี้ ท่านไม่มีหนังสือรับรองอะไร แต่การเห็นภูมิประเทศ และผู้คน ทำให้แมคกิลวารีพอใจมาก เรียกว่าเกิดนิมิตก็ว่าได้
3 ปีต่อมา ท่านจึงขึ้นไปภาคเหนืออีก คราวนี้ท่านเตรียมหนังสือรับรองขึ้นไป แต่ก็ทราบว่า กรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจบังคับประชาชนลาวให้ยอมรับคณะมิชชั่นได้ หมอเฮาท์ เดินทางตามขึ้นไป จะช่วยทำคลอดนาง แมคกิลวารี แต่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง ถูกช้างแทง และเหยียบซ้ำ แต่พระเจ้าทรงช่วยรักษาให้พ้นอันตราย ไม่ได้ทำคลอดหรอกครับ เอาไว้วันหลังจะเล่าว่า ท่านทรหดเพียงใด แดเนียล แมคกิลวารี ขึ้นไปเชียงใหม่ ก็ช่วยรักษาไข้ของชาวบ้าน เช่น ท่านใช้ยาควินิน รักษาไข้มาเลเรีย ใช้โปแตสเซียมไอโอได รักษาโรคคอพอก ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ใช้ฝิ่น รักษาโรค ที่กำลังถกกันมากวันนี้ ท่านใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาบิด และโรคกระเพาะอาหาร เพราะรู้ว่าฝิ่นเสพย์ติดได้ การประกาศของแดเนียล แมคกิลวารี ได้ผลดี ไม่เฉพาะภาคเหนือ แต่ในประเทศลาวด้วย 3 ปีของการประกาศกับคนลาว ผู้รับเชื่อที่เป็นคริสเตียนคนแรก คือ หนานอินต๊ะ รับศีลบัพติสมาเมื่อ มกราคม 1869 จากนั้นในช่วง 8 เดือน ก็มีผู้รับเชื่ออีก 7 คน ทั้งหมดเป็นคนมีความรู้ สังคมนับถือ บางคนเคยบวชเรียน ทำให้เจ้ากาวิโลรส “เจ้าชีวิต” ของคนเมืองหาทางหยุดยั้งการขยายตัวของมิชชั่นนารีมากขึ้น ท่านคิดว่า หากชาวเมืองเป็นคริสเตียนมาก อาจสะเทือนราชอำนาจเด็ดขาดของท่าน อาจส่งผลต่อจารีตปฏิบัติที่เคยทำกันมา กลางเดือนกันยายนปีนั้น คริสเตียน 2 คน คือ น้อยสุริยะ กับ หนานชัย ถูกประหารชีวิต เจ้าเมืองสั่งว่า จะประหารไพร่ฟ้าหรือคนของพระองค์ทุกคนที่มารับเชื่อศาสนาของมิชชั่นนารี จึงเกิดความตึงเครียดกันไปทั่ว ทั้งชาวบ้านและมิชชั่นนารี เมื่อคณะข้าหลวงเดินทางมาเชียงใหม่ แมคโดแนลด์ ได้กราบทูลเรื่องนี้ แต่ดูจะไม่เป็นผล เจ้าหลวงกลับขอให้มิชชั่นนารี รักษาพยาบาลคนเจ็บเพียงอย่างเดียว ห้ามสอนศาสนา กำชับว่าถ้าขัดขืนจะไล่ออกนอกประเทศ


ที่พึ่งอันเดียวของมิชชั่นนารีในตอนนั้น คือ จะต้องนำเรื่องนี้ขอความช่วยเหลือจาก กษัตริย์ไทย คือ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) แต่เชียงใหม่ห่างกรุงเทพฯ ถึง 500 ไมล์ และมิชชั่นนารีก็ไม่ทราบข่าวคราวอะไรจากกรุงเทพฯ เลย ถ้าจะส่งคนไปกรุงเทพฯ ก็จะต้องกินเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนกว่าจะนำคำตอบกลับมา


แต่กาลกลับผลิกผัน เจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์ เจ้าหลวงเชียงใหม่พระองค์นี้ สิ้นพระชนม์วันที่ 28 มิถุนายน 1870 แมคกิลวารีเล่าว่า “ข้าพเจ้าจึงละทุกสิ่งทุกอย่างไว้ก่อน แล้วตั้งหน้าตั้งตาเขียนคำร้องซึ่งจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 ในนามแห่งคริสเตียนผู้จงรักภักดี ข้าพเจ้าขอพระราชทานพระมหากรุณา รับรอง ให้สิทธิทั้งทางบ้านเมือง และทางศาสนา ซึ่งราษฎร์ทั้งหลายของพระองค์ได้รับสิทธิเหล่านี้อยู่ สิทธิเข้าสู่พิธีสมรสได้ตามพิธีแห่งศาสนาของตน คำร้องอีกประการหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ เพราะไม่แน่ใจ คือ ขอให้คริสเตียนได้รับการผ่อนผันจากงานหลวงในวันสะบาโต เพราะถ้าเจ้านาย โมโห ก็อาจอาศัยเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้ ก่อเรื่องยุ่งยากขึ้นได้”


เราได้จัดการส่งผู้ถือสาสน์พิเศษให้ลงเรือเร็ว สั่งให้เดินทางด่วนที่สุดที่จะทำได้ ผู้ถือสาสน์กลับมาโดยรวดเร็วแทบไม่น่าเชื่อ คือถึงเชียงใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน ข้อความในราชสาส์น เป็นดั่งน้ำจากฟ้าชโลมใจ จนตราบเท่าทุกวันนี้


“ข้าพเจ้าพระยาเทพวรชุน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ขอประกาศพระบรมราชโองการแก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครและข้าราชการทุกชั้นตลอดจนประชาราษฎร์ในเมืองและแว่นแคว้นตามที่กล่าวระบุมาแล้วว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชสาสน์ประทับราชลัญจกรมา และมีพระบรมราชโองการในเรื่องนี้ว่า

 

กิจการทางศาสนาและทางอาณาจักร ย่อมไม่มีการขัดแย้งกัน ผู้ใดที่ใคร่จะนับถือศาสนาใดด้วยจิตศรัทธา ในเมื่อเห็นว่าศาสนานั้น ๆ เที่ยงแท้ และเหมาะที่จะพึงนับถือได้ ก็อนุมัติให้กระทำได้โดยไม่มีข้อขีดคั่น ความรับผิดชอบอันจะเกิดแต่การเลือกนับถือศาสนานั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นเอง หาได้มีกฎหมายหรือประเพณีใดของเมืองไทย หรือในสนธิสัญญากับต่างประเทศ ที่จักกีดกันการนับถือศาสนาและพิธีกรรมของผู้หนึ่งผู้ใดไม่


อนึ่ง ประกาศฉบับนี้ บังคับมาอย่างเคร่งครัดแก่บรรดาเจ้าผู้ครองนคร และญาติมิตรของผู้ที่ปรารถนาจะเข้าถือคริสตศาสนา มิให้กระทำการขัดขวางแต่ประการใดประการหนึ่ง และมิให้บังคับบุคคลเหล่านั้นในการกระทำกิจหรือประกอบพิธีกรรมใดอันเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาของเขา เช่น การเซ่นไหว้บวงสรวงผี และทำงานในวันสะบาโต เว้นไว้แต่จะเกิดราชการสงครามหรืองานอันสำคัญยิ่งใหญ่ ซึ่งอย่างไรก็ดีต้องไม่เป็นการกลั่นแกล้ง แต่จะต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ขอให้พึงตระหนักไว้ด้วยว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องมีเสรี และไม่ได้รับการขัดขวางใด ๆ ในการประกอบพิธีในวันสะบาโตด้วย


ประกาศมา ณ วันที่ 8 ตุลาคม 1878 ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 เป็นปีที่ 11 ในรัชกาลปัจจุบัน “
การเผยแพร่ของมิชชั่นนารี หลังการรับรองเสรีภาพทางศาสนา ได้มีการขยายคริสตจักรออกไปยังชนบท นอกเชียงใหม่ และตามหัวเมืองอื่น ๆ ในล้านนา เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับความพยายามของมิชชั่นนารี และการตัดสินพระทัยด้วยพระกรุณาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการออกราชสาส์นฉบับสำคัญยิ่งนี้ครับ

 

 

 



Visitor 100

 อ่านบทความย้อนหลัง