มิชชั่นนารีรุ่นแรก กับ พระราชวัง



ศบ.


วันนี้ผมขอเขียนเรื่อง หมอ ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ แพทย์ทีมีชื่อเสียงในการรักษาโรค ด้านศัลยกรรม ซึ่งเดินทางจากอเมริกา มาประเทศไทย แต่จะขอตัดประสบการณ์เพียงบางของท่านมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เราทราบ การทำงานของมิชชั่นนารี ในอดีต และความสัมพันธ์กับ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของเรา


พระกิตติคุณ เข้ามาสู่ประเทศไทยในปี 1828 ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย นายแพทย์ คาร์ล เอฟ กุตสลาฟ และ ศจ. จาคอบ ทอม ลิน จากอังกฤษ สมัยนั้น ประเทศในยุโรปกำลังล่าประเทศแถบนี้เป็นอาณานิคม ทำให้ไม่ง่ายนักที่มิชชั่นนารีจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ในปี 1833 ศจ. โจนส์ และภรรยา เดินทางมาถึงประเทศไทย ได้นำคนจีน 3 คนแรกรับเชื่อและรับบัพติสมา สองปีต่อมา ในปี 1835 หมอ ดาเนียล บลัดเลย์ ชาวอเมริกัน และ ศจ. ดีน เดินทางมาถึงประเทศไทย ศจ. ดีน เข้ามารีบงานเป็นศิษยาภิบาล เปิดคริสตจักรไมตรีจิต เป็นคริสตจักรแห่งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 1 กค. 1837 มีสมาชิกเริ่มต้น 11 คน เป็นชาวจีนทั้งสิ้น ส่วนหมอ บลัดเลย์ นั้นทำงานด้านการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ ท่านผ่าตัดช่วยชีวิตคนไข้ ทั้งปลูกฝีดาษสำเร็จครั้งแรกในเมืองไทย พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โปรดให้หมอหลวงมาเรียนกับหมอ บลัดเลย์
ส่วนหมอ เฮาท์นั้น และ ศจ. สตีเฟน และ คุณ แมรี่ แมตตูน เดินทางมาถึงประเทศไทยในปี 1847 โดยเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เช่น เดียวกัน การประกาศก็ใช้วิธีสั่งสอน และแจกใบปลิว มิชชั่นนารีรุ่นแรกจึงเป็นที่รู้จักในเมืองไทย ว่าเป็นหมอรักษาโรค และหมอสอนศาสนา หมอบลัดเลย์ทำชื่อเสียงไว้ดี แต่ตอนที่หมอเฮาท์มาถึง ช่วงนั้นหมอบลัดเลย์กลับไปอเมริกาประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้ว เพราะภรรยาของท่านเสียชีวิต หมอบลัดเลย์ จึงต้องพาลูก ๆ กลับไปอเมริกา งานรักษาคนไข้จึงรอหมอเฮาท์อยู่มากมาย ทั้งคนไข้จากวังหลวง และ คนไข้ทั่วไป ในปี 1849 อหิวาตกโรคระบาดหนักในกรุงเทพฯ คนเสียชีวิต วันละประมาณ 1,500 คน ซึ่งท่านช่วยคนไข้ได้เฉพาะบางส่วน


เมื่อรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ในปี 1851 ความสัมพันธ์กับ พระราชวังก็ยิ่งดีขึ้น ในเดือนพฤษภาคม กษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหามงกุฎ” มีการจัดเฉลิมฉลองติดต่อกันเป็นเวลานาน พิธีฉัตรมงคล ทำในห้องพิเศษต่อหน้าเจ้านาย และขุนนางชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น หลังจากนั้นประมาณ 4-5 วัน จึงได้ทำพิธีขึ้นครองราชย์อย่างมโหฬาร มีการเชิญชาวตะวันตกให้เข้าชมพิธีด้วย หมอเฮาท์ ได้เขียนบันทึกไว้ดังนี้
“พวกเราทั้งหมด ยกเว้นผู้หญิง ได้รับเชิญจากพระมหากษัตริย์ไห้ไปร่วมในงานพิธีครั้งนี้ด้วย ซึ่งความจริงแล้ว เราพบกับพระองค์เสมอ แต่การเข้าเฝ้าครั้งนี้ นับว่าเราประทับใจในความสง่างามของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังได้ทรงจัดเลี้ยงอาหารตามแบบยุโรปด้วย แม้ว่าพระองค์จะไม่สามารถสัมผัสพระหัตถ์กับพวกเรา ได้ตามพระราชประสงค์ เพราะขัดกับขนบธรรมเนียมแม้กระนั้นพระองค์ก็ยังให้เกียรติ โดยการส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง พร้อมด้วยเหรียญสลึงที่ทำด้วยทองคำแท้ ตลอดจนตัวอย่างเงินตราอื่น ๆ ที่ใช้ในรัชกาลใหม่มาให้”
พระองค์ทรงสนพระทัยในศาสนทูตเป็นอย่างมาก เพราะอดีตที่ผ่านมา ไม่มีศาสนทูตคนใดได้รับอนุญาตให้เข้าในเขตกำแพงพระราชฐาน ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ยิ่งการเข้าเฝ้าด้วยแล้ว นับว่าน้อยมาก แต่พระองค์รับสั่งในพิธีขึ้นครองราชย์ว่า พระองค์ปรารถนาให้บรรดาศาสนทูตอยู่ในประเทศด้วยความผาสุก และทำหน้าที่ต่อไปเหมือนที่ได้ทำมาแล้วในอดีต
ต่อมาได้มีขบวนแห่กษัตริย์และพวกขุนนางไปรอบ ๆ พระบรมราชวัง หมอเฮาท์ได้บันทึกว่า
“ตามประเพณีดั้งเดิม ในพิธีขึ้นครองราชย์ พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้านาย และขุนนางไปรอบ ๆ กำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งยาวประมาณ 1 ไมล์ พวกเราศาสนทูต และชาวยุโรปอื่น ๆ ได้รับเชิญให้ไปชมขบวนเสด็จด้วย พระมหากษัตริย์ทรงฉลองพระองค์งดงาม นั่งบนเสลี่ยงสูง ต้องใช้คนถึง 32 คนหาม พระองค์ทรงโปรยทานแก่ผู้คนซ้ายขวา”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว พวกข้าราชการต่างหันมาเป็นมิตรกับมิชชั่นนารี พวกเจ้านายที่ไม่ยอมติดต่อกับชาวต่างประเทศในสมัยก่อน มาบัดนี้ก็เริ่มทำการติดต่อกับชาวต่างประเทศทั่วไป หมอเฮาท์ เล่าด้วยความยินดีว่า “ศักราชใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว ในที่สุดเราได้ที่อยู่เป็นหลักเป็นฐาน ข้าพเจ้า มร.มัตตูน และ มร. บุช ได้เยี่ยมเจ้านายพระองค์หนึ่ง ที่เคยเป็นนายแพทย์มาบัดนี้ท่านได้เป็นเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ท่านต้อนรับพวกเราด้วยความยินดี บอกเราว่า “ข้าพเจ้าได้นำเรื่องนี้กราบทูลในหลวงแล้ว พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมิชชั่นนารีอยู่ที่นี่ (ที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกัน) และทรงรับสั่งให้ข้าพเจ้าช่วยเหลือท่าน นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้มิชชั่นนารีเข้ามาในประเทศไทยได้ตามต้องการ
“แทบไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆ ที่พวกเรากำลังจะได้สิ่งที่พวกเราแสวงหามาเป็นเวลาถึง 4 ปีครึ่ง คือที่ดินปลูกสร้างบ้านเรือนและที่ทำการของคณะมิชชั่น”


เมื่อได้รับหลักประกันว่าจะได้ที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอนแล้ว พวกมิชชั่นนารีจึงตกลงใจสร้างเป็นตึก บ้านรุ่นแรกก่อสร้างเสร็จ เดือนกุมภาพันธ์ 1852 ได้มีการประชุมนมัสการในบ้านหลังนั้น และใช้เป็นที่ทำการของคณะมิชชั่นมา จนกระทั่งปี 1857 จึงได้ขยับขยายให้พอกับความก้าวหน้าของงานมิชชั่น


ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีรับสั่งขอร้องให้พวกสตรีในคณะมิชชั่นไปสอนภาษาอังกฤษให้พวกสตรีในวังหลวง ซึ่งหมอเฮาท์ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ เมื่อ 13 สิงหาคม 1851 มีใจความว่า
“ดร. บลัดเลย์ และ มร. โจนส์ ได้รับหนังสือจากราชเลขานุการในพระบรมมหาราชวัง มีใจความว่า “ในหลวงทรงทราบจากพระยาสุริยวงศ์ และพระนายไวยว่า พวกกริยาของศาสนทูตมิชชั่นยินยอมจะไปสอนภาษาอังกฤษให้แก่พวกนางสนม และนางพระกำนัล ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ ดังนั้น พระองค์จึงปรารถนา ที่จะทราบวิธดำเนินงานของพวกท่าน และทรงมีพระราชประสงค์ให้นางกำนัลหลายคนที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังได้รู้ภาษาอังกฤษ ฯลฯ 


หมอ บลัดเลย์ จึงตอบไปว่า บรรดาภริยาของศาสนทูตได้เตรียมพร้อมแล้ว จะเริ่มงานทันที นักเรียนชุดแรกมี 9 คน อายุ 16-20 ปี กับอีกคนหนึ่งอายุประมาณ 30 ปี เป็นคนสวย ฉาดเฉลียว คล่องแคล่ว เรียนภาษาอังกฤษในท้องพระโรง หมอเฮาท์ ถือว่า เป็นงานให้การศึกษาแก่ชาววังเป็นครั้งแรกในต่างประเทศ ซึ่งกระทำก่อนประเทศอินเดีย ถึง 5-6 ปี จำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงประมาณ 25-30 คน หลังความนิยม สตรีหลายคนได้เลิกเรียน ทำให้มีนักเรียนน้อยลง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ยกย่อง หมอ บลัดเลย์ และ หมอเฮาท์ เป็นอย่างมาก นับเป็นเกียรติยิ่งใหญ่ก่านทั้งสอง “วันนี้ ได้รับเกียรติให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เป็นครั้งแรก นายพูนได้บอกว่า พระองค์ทรงมีรับสั่งให้พาข้าพเจ้าไปสนทนาภาษาอังกฤษกับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงลืมภาอังกฤษไปบ้างแล้ว”


ในหลวงทรงโปรดให้คนมาตามตัวหมอเฮาท์บ่อย ๆ เพื่อให้แปลเรื่องที่พระองค์สนพระทัย ทั้งด้านการเมือง และวิทยาศาสตร์ จากนิตยสารภาอังกฤษ บางทีก็ทรงขอร้องหมอเฮาท์ให้รายงานข่าวที่ได้รับจากต่างประเทศ ก่อนที่จะจ้างมิสซิส เลียวโนเวนส์ ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นเลขานุการิณี มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ บางที พระองค์ก็ขอให้หมอเฮาท์ ช่วยเขียนจดหมายภาษาอังกฤษ ที่พระองค์ทรงมีไปยังประมุขต่างประเทศ เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พระนางวิคตอเรีย ในฐานะศัลยแพทย์ หมอเฮาท์ เคยถูกเรียกไปช่วยหมอบบลัดเลย์ ในพระบรมราชวัง 2 ครั้ง ในปี 1852 เพื่อทำคลอดพรพสนมผู้หนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนแพทย์ต่างประทเศไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าในตำหนักของพระสนมเลย
เนื้อที่ผมจำกัด ผมขอจบลงด้วย พระราชสาส์น ที่แสดงความขอบพระทัย
“คุณหมอผู้มีเกียรติ


ข้าพเจ้าขอบใจท่านมาก ที่ท่านได้ช่วยเหลือสนมของข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากความตาย ข้าพเจ้าขอให้ท่านรับเงิน 200 บาท เพื่อเป็นรางวัล อีก 40 บาท เป็นรางวัลแก่หมอเฮาท์ ที่มาช่วย ข้าพเจ้าวางใจในวิธีรักษาพยาบาลของชาวยุโรป และอเมริกัน แต่ข้าพเจ้เสียใจที่ไม่สามารถชักจูงเธอให้มีความเชื่อในวธีการรักษาของชาวตะวันตก เช่นเดียวกับข้าพเจ้าได้ ตั้งแต่ต้นก่อนที่อาการจะเพียบหนัก ทั้งนี้เพราะญาติพี่น้องของเธอชักจูงเธอให้ทำตามประเพณีดั้งเดิม การรักษาพยาบาลของท่านนับเป็นการอัศจรรย์ที่สุด ในพระบรมราชวังแห่งนี้
ข้าพเจ้ายังเป็นมิตร และผู้ปรารถนาดีขอวท่านสืบไป
สมเด็จพระปรมินทรมหามงกุฎ
กษัตริย์แห่งประเทศไทย
การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อคนต่างด้าวเปลี่ยนแปไปโดยสิ้นเชิง ความเกรงกลัวที่จะปะทะกับอังกฤษหมดสิ้นไป พระนางวิคตอเรีย ได้ส่งสาส์น มาแสดงความยินดีต่อพระมหากษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชย์ ในปี 1855 คณะทูตอังกฤษเดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ มีเซอร์ จอห์น เบาวริง เป็นหัวหน้าคณะ ท่านเชื่อในพระเจ้า มีการร่างสนธิสัญญาที่เป็นมิตรไมตรีอย่างดี
ที่เล่ามานี้เป็น เรื่องราวบางตอน ผมคัดมา แสดงให้เห็นว่ามิชชั่นนารีในอดีต เข้ามาทำงานในประเทศไทย ด้วยความวิริยอุสาหอย่างไร ทั้งได้รับการต้อนรับด้วยพระทัยกรุณา จากพระเจ้าแผ่นดินของไทยเรามากมายล้นพ้นอย่างไร
ขอพระเจ้าอวยพระพรครับ



Visitor 323

 อ่านบทความย้อนหลัง