|
เส้นทางดาวหาง
ศบ.
เรื่องของ อังรี ดู นังต์
ผมตั้งใจจะเขียนเรื่อง“เส้นทางดาวหาง”( Comet Life-Line) มาตั้งแต่ประชุมองค์กร ที่คิดถึงเรื่องนี้ ก็เพราะพระเจ้าให้คริสตจักรสามัคคีธรรมกรุงเทพ ทำงานสิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยนึกคิดมาก่อน คือ เรื่องการประกาศกับจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ เป็นวงแหวนเหมือนขนมโดนัท โดยเริ่มจากทีมของน้องชินวัตรและน้องรัตน์ ออกไปอธิษฐานเผื่อคนเจ็บป่วยในหมู่บ้านต่างๆ เชิญชวนพี่น้องนั่งรถตู้ มาคริสตจักรแม่ในวันอาทิตย์ เพื่อนมัสการและเรียนพระคัมภีร์กับผมและประชุมรอบสาม เพื่อขอการหายโรค ระหว่างสัปดาห์ก็มีน้อง ๆ ตามออกไปทำกลุ่มเซลล์ ในหมู่บ้านผู้เชื่อ ตามด้วยการทำสถานประกาศ และเชิญชวนผู้เชื่อมาเรียนที่ศูนย์ฝึกอบรม เพื่อปลูกคริสตจักรต่อไป ณ วันนี้ ก็ยังอยู่ในระหว่างการก่องานครับ พอดีวันก่อนผมได้อ่านเรื่องของ อังรี ดู นังต์ สตรีผู้กล้าหาญของ
เส้นทางดาวหาง ในหนังสือ Reader’s Digest ฉบับ สิงหาคม ปี 1974 ปีที่ผมไปเรียนพระคัมภีร์ที่สวิสต์ โน่น วันนี้จะของเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิทเลอร์ส่งทหารนาซีออกไปทำสงครามยึดประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อันดับแรกคือ วันที่ 1 กันยายน 1939 เยอรมันบุกโปแลนด์ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศส ประกาศสงครามกับเยอรมันทันที ต่อมา 8 เมษายน 1940 เยอรมันบุกเดนมาร์ก และนอร์เวย์ 10 พฤษภาคม 1940 เยอรมันบุก ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม ลักแซมเบิร์ก 9 มิถุนายน 1940 นอรเวย์ ยอมแพ้ วันรุ่งขึ้น อิตาลี ภายใต้การนำของมุโสลินี ประกาศร่วมรบกับฮิตเลอร์ ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและอังกฤษ สัปดาห์ต่อมา เยอรมันยกทัพเข้าบุกกรุงปารีสของฝรั่งเศส วันที่ 22 เดือนเดียวกัน ฝรั่งเศสประกาศยอมแพ้ เป็นอันว่าฝ่ายอักษะ ซึ่งมี เยอรมัน อิตาลี เข้ายึดยุโรปได้เกือบทั้งหมด ส่วนญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในเอเชียตะวันออก ก็ประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ ในวันที่ 27 กันยายน 1940 ทำให้ฝ่ายอักษะมีอยู่ 3 ประเทศ
ในยุโรปนั้น เยอรมันพยายามใช้ฝูงบินข้ามช่องแคบอังกฤษไปตีกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1940 แต่ไม่สำเร็จ อังกฤษภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ต่อต้านไว้อย่างสามารถ ฮิตเลอร์เสียเครื่องบินจำนวนมาก 12 ตุลาคม 1940 ฮิตเลอร์ยกเลิกความพยายามโจมตีเกาะอังกฤษ หันไปบุกเมืองขึ้นของอังกฤษในอัฟริกา เช่น อียิปต์ ส่วนอิตาลีก็เข้าบุกประเทศกรีซ วันที่ 13 เดือนเดียวกัน อังกฤษสวนกลับ เอาฝูงบินไปโจมตีเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมัน
ผมลืมบอกไปว่าฝ่ายพันธมิตร ที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอักษะนั้นมีประเทศใดบ้าง ครับ ประเทศพันธมิตร ก็มี อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส (แม้ประเทศถูกเยอรมันเข้ายึดครองแล้ว ฝรั่งเศสก็ทำสงครามใต้ดินต่อไป) ส่วน สหรัฐอเมริกา มีประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสแวลต์ เป็นผู้นำ ในช่วงแรก ก็วางตัวเป็นกลาง แต่เหตุการณ์ต่าง ๆในยุโรปนั้น อเมริกาก็ไม่วางใจ จนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝ่ายอักษะโจมตีอ่าวเพิร์ลที่ ฮาวาย ของอเมริกา อเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฟลงคลิน ดี. รุสเวลท์จึงเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร นอกนั้น ก็ยังมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมกับพันธมิตรอีกมาก
ผมเกริ่น ลำดับเหตุการณ์มาเสียยาว ภาพกว้างๆ คือฝ่ายอักษะค่อนข้างได้เปรียบในช่วงแรก คือยึดประเทศต่าง ๆ ได้โดยประเทศเหล่านี้ไม่มีกำลังต่อสู้ สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นกินเวลานานประมาณ 5 ปี คือเริ่มมาตั้งแต่ปี 1939 ไปจบลงในปี 1945 ฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ทั้งในยุโรป อัฟริกา และเอเชีย ให้เรานึกภาพเอาก็แล้วกัน ในช่วงสงครามนั้น ทหารนาซีกระจายอยู่ทั่วในยุโรป ทั้ง โปแลนด์ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม ลักแซมเบิร์ก ฮิตเลอร์จับยิวไปฆ่าในค่ายกักกัน ในประเทศเหล่านี้ก็มีหน่วยใต้ดินที่ซ่อนตัวอยู่ คอยหาข่าว ช่วยทหารที่ถูกจับออกมาจากคุก หรือ ตัดกำลังของเยอรมัน เช่น ระเบิดสะพาน ทางรถไฟ หน่วยใต้ดินเหล่านี้ ถ้าถูกเยอรมันจับได้ ก็ถูกประหารทันที ส่วนประชาชนในประเทศที่เยอรมันกำลังยึดครอง อย่างเดียวกับที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดเมืองไทย ก็อยู่ในประเทศด้วยความหวาดกลัว การวางตัวเป็นกลาง หรือไม่ไปเข้าข้างทหารนาซี ที่เข้ามายึดประเทศ ก็จะทำให้ตนเองปลอดภัย คนไทยเราว่า “รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” ประชาชนส่วนมากจึงวางเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ทั้งๆที่ทราบอยู่ว่า อังกฤษ อเมริกา และ
พันธมิตร กำลังส่งทหารพลร่ม หรือฝูงบินมาตีโต้เยอรมันเพื่อจะกู้ประเทศคืนให้พวกตน และนี่คือที่มาของเรื่อง “เส้นทางดาวหาง”
เรื่องนี้เริ่มขึ้นมาโดย ผู้หญิงสาวชาวเบลเยี่ยมคนหนึ่ง เธอมีชื่อว่า อังรี ดู นังต์ (ชื่อคุ้น ๆ เหมือนถนนในกรุงเทพฯ ) เธออายุ 24 ปี เธอเกิดใกล้กรุงบัสเซล เมืองหลวงของเบลเยี่ยม ครูของเธอเคยเล่าเรื่องของ อีดิธ คาเวลล์ นางพยาบาลชาวอังกฤษ ที่ถูกเยอรมันจับได้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยทหารพันธมิตร เธอประทับใจมาก จึงตั้งใจว่าเธออยากทำงานเช่นเดียวกัน คือช่วยชีวิตทหารพันธมิตร เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น คนเราน่ะมีภาระใจที่จะช่วยคนอื่น พระเจ้าก็ช่วยให้อะไร ๆ มหัศจรรย์เกิดได้ทั้งนั้น เดือนพฤษภาคม 1940 ทหารนาซีเข้ายึดประเทศเบลเยี่ยม มีการรับสมัครนางพยาบาลช่วยคนบาดเจ็บ เธอก็ขันอาสาเข้าไปเป็น นางพยาบาล รักษาชาวเบลเยี่ยมและชาวอังกฤษที่บาดเจ็บในโรงพยาบาลที่เมืองบรูซ เธอพบว่า การตรวจตราของเยอรมันนั้น เข้มงวดมาก การพาคนเหล่านี้ หนีไปนั้นเป็นไปไมได้ เมื่อเธอไปยังกรุงบัสเซลล์ ตลอดชายฝั่งทะเลแอตแลนติกนั้น ทหารเยอรมันตรวจตราเข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็มีทหารอังกฤษที่ซ่อนตัว อยู่กับหน่วยใต้ดินในกรุงบรัสเซลล์ จำนวนมาก ทหารเหล่านี้กลับประเทศอังกฤษไม่ได้
อังรี คิดว่านี่คือภาระใจที่เธอต้องหาทางทำให้ได้ ในที่สุดเธอพบว่า ตลอดชายฝั่งแอตแลนติกที่เยอรมันยึดครอง มีทหารนาซีเฝ้ายาม ชายฝั่งฝรั่งเศสประมาณ 960 กิโลเมตร รวมทั้งระยะทางที่เหลือไปจนถึงเสปน ก็อีกประมาณ 960 กิโลเมตร ถึงช่องแคบยิบรัลตา จึงพ้นจากค่ายทหารเยอรมัน นั่นแปลว่า จะต้องอาศัยผู้ร่วมมือนับร้อย ที่จะทำงานร่วมกับหน่วยใต้ดิน เสี่ยงตาย ฝ่าตำรวจลับ ปลอมแปลงตน ส่งทหารเหล่านี้ลงไปสุดแหลมยุโรป ถึงช่องแคบยิบรัลตา ขึ้นเรือกลับไปเกาะอังกฤษ
เส้นทางสู่อิสรภาพ (เส้นทางดาวหาง)
เส้นทางสู่อิสรภาพนี้ ต้องขึ้นรถไฟไปยังเบลเยี่ยม ถึงเมืองเกอร์แวง ข้ามแม่น้ำ ซอมเม ใกล้เมือง อาเมียงส์, ผ่านด่านตรวจของเยอรมัน สู่โซนของฝรั่งเศส ไปยังกรุงปารีส ขึ้นรถไฟรอบดึกไปยังเมือง บายนน์ ไปยังเสปน จากนั้นก็ให้ขี่จักรยานไปยัง อังเกรท ใกล้เมืองบายนน์ พักผ่อนที่นี่ 1 วัน ในบ้านที่ปลอดภัย (Safe house) เดินไต่เขาขึ้นไปยังฟาร์ม บนภูเขา ข้างล่างจะมีทหารเยอรมันเดินยาม สับเปลี่ยนเวรกันตลอดคืน จากเทือกเขาพิเรนิส จนถึง เซบาสเตียน เหนือประเทศเสปน ในที่สุดเขาไปยังจุดหมายปลายทาง
โดยการช่วยเหลือของ กงสุลอังกฤษในเมืองบิลเบา เขาขึ้นรถเก๋งจากที่นั่นไปยังช่องแคบยิบรัลตา ผ่านเมืองมัดริด เมืองหลวงของเสปน เส้นทางที่ว่านี้เอง เขาเรียกว่า ทางดาวหาง มีการทำตั๋วปลอม บัตรปลอม บางทีก็ให้แบกหีบห่อ บางที่ก็ให้จูงเด็กเพื่ออำพราง บางที่ก็นั่งเรือ บางทีก็ต้องว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ อังรีเองเคยว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ 11 ครั้งตอนกลางคืน ทหารคนหนึ่งเป็นพยานว่า “เธอทำให้ผมกล้าหาญ เธอกล้ากว่าผมเสียอีก”
ในเดือนพฤศจิกายน 1942 ทหารเยอรมันเคยจับชายหญิง ในทีมนี้กว่า 100 คน ที่เส้นทางระหว่างบรัสเซล ไปยังเมืองบายันน์ พวกเขาถูกขังและทรมาน บ่ายวันที่ 15 มกราคม ปี 1943 อังรีถูกจับพร้อมกับนักบินพันธมิตร ที่เธอนำทาง 3 คน ใกล้ภูเขาพิเรนิส นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1941 เป็นต้นมา เธอช่วยพาทหารไปสู่อิสรภาพถึง 118 คน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงตุลาคม นักบินพันธมิตรได้รับการช่วยให้กลับสู่อิสรภาพ 54 คน โดยแบ่งออกเป็น 13 ทีมย่อยๆ ข้ามไปยังเทือกเขา พิเรนิส อังรี เองถูกพาตัวไปยังเยอรมัน อยู่ที่ค่ายกักกัน เมาเธเซน เยอรมันตั้งคำถามเธอประมาณ 20 ข้อ เพื่อช่วยให้คุณพ่อของเธอพ้นข้อหา เธอสารภาพว่า “เธอคือ ต้นคิดเรื่องเส้นทางดาวหาง” ทหารเยอรมันไม่เชื่อ “อย่าล้อเล่นน่า” แล้วเธอถูกปล่อยตัวออกมาอย่างเหลือเชื่อ
ความกล้าหาญของเธอ ทำให้หลายคนลุกขึ้น ในขณะที่เยอรมันเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ ในเดือนมกราคม 1944 ฟรานโก ผู้ที่เคยช่วยทหารไปสู่อิสรภาพ 215 คนถูกจับที่กรุงปารีส ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกันเกสตาโป จับคนเหล่านี้ 6 มิถุนายน 1944 พันธมิตรยกพลขึ้นบกที่นอมังดี ชายหาดของฝรั่งเศส จากนั้นก็บุกเข้ายึดปารีส คืนวันที่ 25 สิงหาคม ยึดฮอแลนด์ได้ในวันที่ 17 กันยายน 1944 ด้านตะวันตกของยุโรป รัสเซียประสบชัยชนะ ยึดกรุงเวียนนาคืนจากเยอรมัน และเข้าสู่เบอร์ลินวันที่ 16 เมษายน 1945 ฮิตเลอร์ฆ่าตัวตาย เยอรมันประกาศยอมแพ้ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ส่วนฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม 1945 หลังถูกทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมา และนากาซากิ
หลังสงครามสงบ อังรี ใช้ชีวิตเป็นพยาบาลที่นิคมโรคเรื้อนเอธิโอเปียน คองโก อีก 28 ปี ทหารอากาศคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยให้เป็นอิสระ กล่าวว่า “อังรี เป็นสตรีที่หาได้ยากในโลก ผู้แลเห็นความทุกข์ของคน แล้วไม่อยู่เฉย”
แจคสัน นิวตัน หนึ่งในนักบินที่ได้รับการช่วยให้รอด โดยอังรีดูนัง กำลังขอบคุณเธอ
ผมชอบ อังรี ดู นัง ผมคิดว่า พระเจ้ากำลังสร้าง เส้นทางดาวหาง หมู่บ้าน ต่อหมู่บ้านให้คนได้รับอิสรภาพจากอำนาจของมาร แต่เราต้องกล้าหาญอย่างอังรี ดู นัง
|
|
|