แพทย์หลวง
ศบ.

 


วันนี้ขอเล่าเรื่องแพทย์หลวง สมัยก่อน ที่ผมรู้จัก

ปี 1971 หลังจากจบจากคณะเภสัชศาสตร์ ผมก็สมัครเป็นพนักงานขาย (ดีเทลยา) ของบริษัทเลอเปอตี้ต์ ประเทศไทย จก. ซึ่งตั้งอยู่ที่บางนา เลอร์เปอตีต์ มีหลายเอเยนต์ ผมเป็นพนักงานขายยาของ แอสตรา ซึ่งเป็นเอเยนต์ จากประเทศสวีเดน

แอสตรา มียาที่เป็นพระเอกอยู่ตัวหนึ่ง คือ ไซโลเคน (Xylocaine) เป็นยาชา เฉพาะที่ (Local anesthetic) ที่ผมเรียกว่าเป็นพระเอก ก็เพราะเป็นยาที่หมอทั่วไป หมอศัลย์ หมอฟัน และนักเรียนแพทย์ทุกคนรู้จัก ขายง่าย ไซโลเคน เป็นชื่อการค้า ของ ลิโดเคน (Lidocaine ) ซึ่งสังเคราะห์มาจาก โคเคน (Cocaine) เขาเล่าว่า สมัยก่อนชาวเปรู ในอเมริกาใต้ เคยใช้ใบโคคา เคี้ยวได้สารโคเคนกระตุ้นประสาท ต่อมาปี 1860 อัลเบิร์ท นิวแมน นำมาใช้อมใต้ลิ้น เพื่อเป็นยาชา เวลาปวดฟัน ต่อมาก็พบว่าโคเคน เป็นยาเสพย์ติดที่อันตราย ครับ ทุกวันนี้เลิกใช้โคเคนไปหมดแล้ว แต่นักเคมีเขา สังเคราะห์พัฒนา เป็นยาตัวใหม่ขึ้นมา คือ ลิโดเคน ที่ไม่เสพย์ติด และมีผลข้างเคียงน้อย ก็เป็นยาชาที่เราใช้กันในปัจจุบัน

 


ช่วงหลังผมไปทำฟันอยู่บ่อย ก่อนทำฟัน ทันตแพทย์ท่านจะฉีดยาชา ไซโลเคน แล้วรออยู่ประมาณ 1-2 นาทีให้ยาออกฤทธิ์ ทำให้ ปากชา ไม่รู้สึกเจ็บ จากนั้นหมอจึงทำฟัน เช่น ถอน หรืออุด ทุกครั้งที่ใช้ยาชา ผมนึกขอบพระคุณพระเจ้าเสมอ ที่ทรงประทานพืชชนิดนี้ไว้ในโลก ทั้งขอบคุณพระองค์ที่โปรดประทานสติปัญญาแก่นักเคมี ในการเอาโคเคนมาดัดแปลงเป็นลิโดเคน ยาชาช่วยคนไข้ ทำให้ไม่ต้องเจ็บทุกข์ทรมาน มิฉะนั้น ป่านนี้ เวลาหมอศัลย์ผ่าตัดเล็ก หรือทันตแพทย์ทำฟัน เราคงเจ็บปวดรวดร้าวเป็นที่สุด
ผมเล่าไปเสียยาว ขอกลับมาคุยเรื่องการเป็นดีเทล ยาของผมต่อ
โรงพยาบาลที่บริษัทมอบหมายให้ผมไปขายยา ได้แก่ รพ.รามาธิบดี รพ. พระมงกุฎฯ รพ.วชิระ รพ.ภูมิพล และ มีแพทย์หลวงอยู่ด้วย แพทย์หลวงที่ผมเข้าไปดีเทลยา สมัยนั้นมี 3 ที่ คือ (1) แพทย์หลวง พระบรมราชวัง (2) แพทย์หลวง สวนจิตลดา และ(3) หน่วยแพทย์อาสา พอ.สว. วังสระปทุม

 

ผมไม่รู้จัก สถานที่แพทย์หลวงดังกล่าวมาก่อน พอพูดถึงการเข้าไปในวังก็นึกกลัว เพราะผมไม่คิดว่าคนธรรมดาสามัญอย่างผม จะเข้าไปในบริเวณวังหลวงได้ เคยนั่งรถเมล์ผ่านหน้าวัง ก็เห็นทหารยืนถือปืนเฝ้ายาม แต่พอจะเข้าไปจริง ๆ ผมประหลาดใจ ที่เจ้าหน้าที่ข้างหน้า เป็นมิตรดีมาก มีการแลกบัตรและอนุญาตให้ผมเข้าไปอย่างธรรมดาที่สุด ราวกับผมไปติดต่อบริษัทสักแห่งในกรุงเทพฯ สมัยนั้นผมไปดีเทลยาโดย ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ผมหิ้วกระเป๋าผู้แทนขายยาขึ้นรถเมล์ ไปลงหน้าวัง ติดต่อเจ้าหน้าที่ และเดินเข้าไปตามถนน ที่มีร่มไม้ จนถึงตึกแพทย์หลวง

(1) กองแพทย์หลวง พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน ใกล้สนามหลวง
แพทย์หลวงที่นี่ เป็นสถานรักษาพยาบาลเล็ก ๆ ไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีอะไรทุกอย่างพร้อม เหมือนโรงพยาบาลขนาดย่อม มีห้องตรวจโรค ห้องทำฟัน ห้องพยาบาล และห้องยา ส่วนผมก็มุ่งติดต่อที่ห้องยา เพื่อขายไซโลเคนเป็นหลัก ผมทำงานที่บริษัทเลอเปอร์ตี้ต์ 3 ปี จึงไปติดต่อที่แพทย์หลวงบ่อย จำไม่ได้ว่าไปขายยาที่นี่กี่ครั้ง ทุกวันนี้ ผมทราบว่า มีแผนกไตเทียม และกายภาพบำบัดด้วย กองแพทย์หลวงมีขึ้นก็เพื่อตรวจรักษาพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารและครอบครัว กว้างไกลไปถึงผู้ป่วยอื่น ๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้มารับการรักษา นอกจากนั้น เวลาพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปแปรพระราชฐานเยี่ยมราษฎร ทหาร ตำรวจ ในต่างจังหวัด กองแพทย์หลวงก็จะจัดคณะแพทย์ และพยาบาล ตามเสด็จ และรับรองราชอาคันตุกะด้วย นับเป็นพระทัยกรุณาอันน่าชื่นชมยิ่ง

 

(2) แพทย์หลวง สวนจิตรลดา ดุสิต
แพทย์หลวง วังสวนจิตร เป็นอาคารที่ร่มรื่น มีร่มไม้ตลอดทางตั้งแต่หน้าประตู จนถึงตัวอาคาร งานของแพทย์หลวงที่นี่ เช่น เดียวกับแพทย์หลวงที่ พระบรมมหาราชวัง คือ งานแพทย์ตรวจรักษาคนไข้ พยาบาล เภสัช ทันตกรรม ตรวจวิเคราะห์ ที่เพิ่มขึ้นมา คือ งานเอกซเรย์ ผู้ป่วยที่มารับการรักษาก็เช่นเดียวกัน เพื่อผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในวัง เจ้าหน้าที่ และนักเรียนในโรงเรียนสวนจิตรลดา ทั้งผู้ป่วยทั่วไปที่ทรงโปรดให้มาบำบัดรักษาที่นี่
วังสวนจิตรลดา เป็นบริเวณกว้างขวางร่มรื่น ผมทราบว่า ครั้งที่พระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปเยี่ยมพสกนิกร ในพื้นที่ต่าง ๆ ทรงมีพระราชดำริพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทย ในปี 1961 จึงทรงให้ใช้บริเวณวังสวนจิตร ทำ “โครงการส่วนพระองค์เพื่อการเกษตร” ศึกษาทดลอง ทั้งโครงการตัวอย่าง ให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษา เพื่อนำกลับไปใช้ ตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้คนไทยพึ่งตัวเองได้ เช่น ป่าไม้สาธิต นาข้าวทดลอง การเพาะพันธุ์ปลานิล กังหันลม ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตน้ำเย็นด้วยพลังงานความร้อนจากแกลบ โรงกระดาษสา การเลี้ยงโคนม โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงบดแกลบ โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลไม้อบแห้ง โรงขนมอบ โรงเพาะเห็ด โรงปุ๋ยอินทรีย์ โรงหล่อเทียนหลวง โรงน้ำผึ้ง โรงน้ำดื่ม ฯลฯ โครงการเหล่านี้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รายได้จากผลิตภัณฑ์ และการทูลเกล้าถวายผ่านมูลนิธิฯ
น่าสังเกตว่า วังสวนจิตรลดา อันกว้างใหญ่ มิได้ใช้เป็นที่อำนวยความสุขสบายของพระองค์ แต่ทรงเสียสละ นำมาพระราชวังมาใช้งาน เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยดังกล่าว น่าชื่นชมแท้


(3) หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จย่า (พอ.สว.) วังสระปทุม พระราม 1
หน่วยแพทย์อาสาที่ผมเข้าไปติดต่อตอนนั้น แตกต่างจากแพทย์หลวงทั้งสองที่ คือที่นี่ มิได้เป็นที่บำบัดรักษาพยาบาลผู้ป่วย แต่เป็นที่สำหรับจัดซื้อยา เครื่องมือแพทย์ เพื่อส่งไปสนับสนุนแพทย์อาสาทั่วประเทศ ปี 1957 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้ง “โครงการแพทย์หลวงพระราชทาน” เพื่อตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดาร โดยไม่คิดมูลค่า ทรงโปรดจัดส่งเจ้าหน้าที่แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ทั้งทรงจัดให้มีการอบรมหมอหมู่บ้าน เพื่อบำบัดรักษาราษฎรที่อยู่ในพื้นที้ห่างไกล. ปี 1964 สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ทรงออกเยี่ยมเยียนราษฎรตามถิ่นทุรกันดาร ต้นปี 1969 ได้ทรงเรียกว่า "แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)" ปัญหาหลักที่ทรงพบคือโรคฟัน พระองค์จึงทรงกำชับ ว่า พอ.สว. "จะต้องมีทันตแพทย์ไปด้วย.. " นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีทันตแพทย์ ร่วมไปกับหน่วยแพทย์ พอ.สว. ทุกครั้ง. ปัจจุบันแพทย์อาสามีครอบคลุม ทั่วทุกจังหวัด ในประเทศไทย



ตอนที่ผมเข้าไปขายยาที่ หน่วยแพทย์อาสา วังสระปทุม สมัยนั้น ห้องยาที่นี่สั่งซื้อไซโลเคน สำหรับหมอฟันจำนวนมาก ครับ มากไม่แพ้โรงพยาบาลใหญ่ เช่น รพ.รามาธิบดี หรือ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ ผมทราบจากเจ้าหน้าที่ที่นั่นว่า ยาชาที่จัดซื้อทั้งหมด ถูกส่งออกไปยังแพทย์อาสา ทั่วประเทศ แน่นอน นี่เป็นอีกพระราชกรณียกิจหนึ่งของทั้งของสมเด็จย่า และพระองค์ท่าน ที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในความทุกข์ของประชาชน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในถิ่นกันดาร
จากวันนั้นที่ผมไปดีเทลยาที่แพทย์หลวง จนถึงวันนี้ การชวยเหลือราษฎรด้านสาธารณะสุขก้าวไปไกลมาก อย่างน่าชื่นชมยิ่ง ส่วนวังสระปทุม ซึ่งตั้งอยู่ บริเวณเขตปทุมวัน ถนนพระราม 1 นั้น วันนี้ จัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้เป็นที่ประทับของของสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่ให้เช่าทำศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เช่น สยามพารากอน ฯลฯ
สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ ทรงเล็งเห็นว่า วังสระปทุมมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แห่งพระราชวงศ์ และชาติ จึงทรงจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปชมได้ โดยมีการนัดล่วงหน้า รอบละประมาณ 15 คน
ครับ นี่คืออีกสิ่งหนึ่ง ที่นำให้เราระลึกถึง พระราชกิจที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทเพื่อชาวไทย พระองค์ทรงเป็นแบบอย่าง ของการใช้ ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

 
















Visitor 1205

 อ่านบทความย้อนหลัง