โครงการแก้มลิง บึงหนองบอน

ศบ.

 

 

   คริสตจักรของเรา ตั้งอยู่ในซอยอ่อนนุช 24    “ซอยอ่อนนุช” คือ ถนนสุขุมวิท แยก 77  ถ้าจะเรียก “อ่อนนุช” ว่า “ซอย” ก็ต้องนับว่าเป็นซอยที่ยาวที่สุดซอยหนึ่งในกรุงเทพฯ  เพราะมีระยะทางถึง 12.2 กม. เป็นซอยที่ขนานไปกับคลองพระโขนง และคลองประเวศ  เมื่อตอนที่เราซื้อที่ดิน และสร้างโบสถ์ในปี 1974  ถนนในซอยอ่อนนุชยังเป็นถนนสองเลน  รถวิ่งสวนกันคนละเลน  มีคูน้ำเลียบถนน  อ่อนนุชไม่มีใครอยากมาอยู่  เพราะเป็นซอยทิ้งขยะ มีขยะกองโตเป็นภูเขา       ที่อ่อนนุช 84   เขตประเวศ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณรอบ ๆ   ตอนนั้นรถขยะของ กทม., วิ่งเข้าออกถี่มาก นำขยะในกรุงเทพมาทิ้งที่นี่ คนขับรถเข้ามาในซอย ก็จะรู้สึกรำคาญที่ต้องขับตามรถขยะ             ตอนนั้นหลวงยังไม่ได้ตัดถนนศรีนครินทร์ผ่านซอยอ่อนนุช บริเวณนั้นยังเป็นทุ่งนาโล่ง ๆ ที่คนเลี้ยงวัว และแพะเสียส่วนมาก   ผมและครอบครัว มาเช่าบ้านอยู่ที่หมู่บ้านมิตรภาพ อยู่ในซอยอ่อนนุช 46  ตั้งแต่เริ่มมีโบสถ์ทีเดียว

  ซอยอ่อนนุช อยู่ในพื้นที่ต่ำพิเศษ มีผู้อธิบายว่า มันลุ่มลงไปเหมือนก้นกระทะ  พอฝนตก น้ำก็จะขังท่วมอย่างรวดเร็ว  ที่อื่นเขาระบายน้ำแห้งไปในไม่ช้า  แต่พระโขนง  และซอยอ่อนนุช แช่อยู่ในน้ำนานกว่าที่อื่น 

 

 

  ผมจำได้ว่า  ในหน้าฝน น้ำท่วมซอยอ่อนนุชอยู่บ่อย  แต่ครั้งที่หนักที่สุด คือในปี 1983  เราแช่อยู่ในน้ำนานประมาณ 3 เดือน จนไม่มีรถเก๋งวิ่งบนถนนสักคัน ยังคงมีแต่รถกระบะตัวถังสูงวิ่งอยู่บ้าง ราชการเอารถทหาร จี เอ็ม ซี มาบริการ รับคนจากสะพานพระโขนง มาส่งที่ถนนศรีนครินทร์  พี่น้องมาโบสถ์ในวันอาทิตย์ได้ยากมาก จนวันอาทิตย์หนึ่ง เราต้องย้ายไปประชุมนมัสการที่บริษัทเอเชีย เคนดี้ เป็นห้องแถว บนถนนสุขุมวิท 71 (คลองตัน)   น้ำท่วมทั้งที่โบสถ์ (อ่อนนุช 24)  และหมู่บ้านมิตรภาพ (อ่อนนุช 46 ) ที่ผมเช่าอยู่  น้ำท่วมเข้าไปในบ้าน ชั้นล่างที่เราพัก พอภรรยา และลูกเข้าบ้านแล้ว เราก็ต้องไปพักอยู่ชั้นบน ประมาณ 3 เดือน หลังน้ำท่วม คนในหมู่บ้านมิตรภาพขายบ้านทิ้งจำนวนมาก  เพราะเกรงว่าน้ำจะท่วมไปเช่นนี้ทุก ๆ ปี  ผมไม่เก่งเรื่องน้ำท่วม  แต่ฟังวิทยุก็ว่า เป็นเพราะน้ำเหนือหลากไหลบ่า จริง ๆ น่าจะไปลงทะเลที่สมุทรปราการ  แต่เผอิญน้ำทะเลจากปากน้ำหนุนขึ้นมา  จึงมารวมกัน ครับ  ส่วนเราอาศัยอยู่ที่ก้นกระทะ จึงลงเอยอย่างที่เห็น

 

 ใครละจะเป็นผู้แก้ความทุกข์นี้ของคนกรุง  ส่วนมากก็จะพึ่งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งแต่ละท่านก็ดีเหลือหลาย คอยสูบน้ำออกอย่างรวดเร็ว ด้วยไดรโว่ขนาดยักษ์ หลายเครื่อง สูบไปทางไหนผมไม่ทราบ  ปีไหนสูบแล้วแห้งช้า ประชาก็สวด ก็เป็นกันมาอย่างนี้

 

โครงการแก้มลิง

เป็นที่รู้กันดีว่า กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนที่ต่ำ พอฝนตกหนัก น้ำเหนือบ่า และน้ำทะเลหนุน  ผสานกัน ระบายน้ำออกไม่ทัน คูคลองส่วนมากไม่ลาดชัน  แถมมีวัชพืช เช่น ผักตบชวา ขวางทางน้ำไหลอีก น้ำจึงท่วมขังในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนของพสกนิกร จึงมีพระราชดำริ ให้แก้ไขน้ำท่วม โดยให้ชื่อว่า "โครงการแก้มลิง"   มาจากการที่ลิงตุนอาหารชั่วคราวไว้ที่แก้ม  ทรงอธิบายว่า "ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยวแล้วไปเก็บไว้ที่แก้ม..ลิงจะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อนแล้วจึงนำมาเคี้ยวบริโภค และกลืนกินเข้าไปภายหลัง"

 

 

    การที่น้ำท่วมคลองต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน พอน้ำมาก ให้เราชักน้ำมารวมกัน เก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำ ที่เปรียบได้กับแก้มลิง แล้วจึงค่อยระบายน้ำลงทะเล หลังจากน้ำทะเลลดลงแล้ว  นี่คือพระราชดำริอันเลอเลิศ

    จากแนวพระราชดำรินี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงสนองพระราชดำริ จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ภายในคันกั้นน้ำพระราชดำริ มีพื้นที่ประมาณ 650 ตารางกิโลเมตร  ถ้าฝนตก 3 ชั่วโมง ติดต่อกัน จะมีปริมาณน้ำมากเกินที่คลอง และสถานีสูบน้ำทั้งหมดจะระบายออกไปได้ทัน  น้ำส่วนเกินมีประมาณถึง 13 ล้านลูกบาศก์เมตร  มากแท้  น้ำจึงล้นท่อระบายน้ำ ล้นคลองเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามถนน  ตรอกซอย อย่างหมู่บ้านที่ผมอยูยังไงล่ะ   กทม.  จะต้องจัดหาแก้มลิง เพื่อรองรับปริมาณน้ำส่วนเกินนี้

         

   โครงการแก้มลิงบึงหนองบอน

 

  กทม. จึงจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อกรุงเทพฯ  จำนวน 21 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 12.74 ล้านลูกบาศก์เมตร  เช่น โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย โครงการแก้มลิงบึงหนองบอน 

   โครงการแก้มลิงบึงหนองบอนนั้น ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ให้เวนคืนที่บริเวณแขวงหนองบอน กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม พื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ  ให้บึงเก็บกักน้ำฝนไว้ก่อน พอน้ำลดลงจึงค่อยปล่อยน้ำจากบึงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

  บึงหนองบอน อยู่ติดกับสวนหลวง ร. 9 ที่เราพากันไปร้องเพลงวันอีสเตอร์ ไม่ไกลจากบ้านและโบสถ์ของเรา   เป็นเพียง 1 ใน 21 แห่งของ กทม. ที่ทรงใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม

 

 ให้เรามารู้จัก โครงการแก้มลิงบึงหนองบอน นี้กันสักหน่อย 

 

   บึงนี้  ตั้งอยู่ในเขตประเวศ มีพื้นที่ทั้งหมด 644 ไร่ 1 งาน 37.5 ตารางวา เริ่มขุดบึงเมื่อปี 1993  ใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยขุดลึกประมาณ 10 เมตร ขุดเสร็จเมื่อ ปี 1999  สามารถเก็บกักน้ำได้ 5,000,000 ลูกบาศก์เมตร  หน้าน้ำ จะรับน้ำที่ล้นจากคลองหนองบอน และคลองมะขามเทศ  หน้าแล้ง คือธันวาคม-ถึงเมษายน จะเก็บกักน้ำไว้เพื่อใช้อุปโภค วันนี้ กำลังมีแนวทางสร้างอุโมงค์ส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร จากบึง สู่คลองประเวศ ยาว 330 เมตร เพื่อรองรับน้ำมากขึ้น

 

 

      ซอยอ่อนนุชเจริญขึ้นมาก ถูกขยายออกเป็นถนน 4 เลน มาหลายปีแล้ว วันนี้มีรถวิ่งแน่นขนัด  ที่สำคัญ ผมสังเกตว่า น้ำท่วมอย่างที่เคยมีในปี 1983 ไม่ปรากฏอีกเลย หมู่บ้านที่ผมอยู่ เป็นก้นกระทะก็ไม่มีน้ำท่วมเช่นเดิมอีก  ที่มีบ้างก็เป็นเพียงถ้าตกหนักๆ เครื่องสูบน้ำในหมู่บ้านสูบออกไม่ทันก็ท่วมที่ต่ำอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง   วันนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงจากเราไป  แต่พระราชกิจของพระองค์ยังทรงตราตรึงอยู่กับเรา เราต่างรู้สึกเป็นหนี้พระคุณพระองค์   พระปัญญาและพระปรีชาสามารถของพระองค์น่าชื่นชมอย่างยิ่ง  พระองค์ทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ชาวกรุงได้ตรงจุด อย่างที่ไม่มีใครทำได้อย่างพระองค์

 

       วันนี้  บึงหนองบอน ยังได้ดัดแปลงไปใช้เป็น ที่เล่นเรือใบ สนามตะกร้อ วอลเลย์บอล เทนนิส บาสเก็ตบอล  ล่าสุด กทม. เพิ่งปรับปรุงให้สามารถปั่นจักรยานได้รอบบึงได้ด้วย  ผมไปปั่นจักรยานที่นี่เป็นประจำ หนึ่งรอบ ก็ประมาณ 4 กิโลเมตร อากาศสดใส ทิวทัศน์สวยงาม ต้นไม้ร่มรื่นดีมาก ทุก ๆ ครั้งที่ผมไปปั่นจักรยานที่บึงแห่งนี้  ผมมักใช้เวลาอธิษฐานไปด้วย ผมขอบคุณพระเจ้าที่พระองค์ทรงสร้างธรรมชาติอันสวยงาม  สดชื่น เสียงนกร้องไพเราะ แสงแดดอันบริสุทธิ์  และไม่ลืมระลึกถึงพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้ตะลันความสามารถ พระปัญญา ความวิริยะอุสาหะ และความรัก  แก้ความเดือดร้อนของชาวกรุงทุกคน  โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม          

 



Visitor 273

 อ่านบทความย้อนหลัง