“ทรงทำการ มโหฬารให้เรา” 

ศ.บ

 

           สดุดี 126:3

          “พระเจ้าทรงทำการมโหฬารให้เรา  เรามีความยินดี”

           บ่อยครั้งที่ผู้เชื่อเผชิญปัญหายากเกินแก้ ลางทีก็ท่วมหัวท่วมหูหาทางออกไม่ได้ ซึ่งพระเจ้าทรงยินยอมให้มันเกิดขึ้นกับเขาแล้วในภาวะเช่นนั้น เมื่อเขาร้องทูลพระเจ้า พระองค์ก็ทรงเสด็จมาช่วยเขา ช่วยเขาให้หลุดพ้นปัญหาอย่างอัศจรรย์  พอเขาพ้นปัญหาไปได้ เขาหันมามองดูสิ่งที่เกิดขึ้น เขาตกตลึงว่าเขาพ้นมาได้อย่างไร  เขาเปี่ยมไปด้วยความยินดีร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า

           ที่มาของเพลง สดุดี 126

           สดุดี 126 เป็นเพลงแห่ขึ้น

           เพลงแห่ขึ้นเป็นเพลงที่คนยิวใช้ร้อง เมื่อพวกเขาเดินทางไปนมัสการพระเจ้า  ที่กรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัศคา  เทศกาลอยู่เพิงหรือเทศกาลเป่าแตร เนื้อร้อง  ท้าวความไปถึงการที่พวกเขาได้รับอนุญาตจากไซรัส  ให้กลับมาสร้างกรุงขึ้นมาใหม่อีกที กรุงเยรูซาเล็มแตกตั้งแต่ปี กคศ 586 กษัตริย์เนบูคัสเนสซาร์  กวาดต้อนพวกเขาไปเป็นเชลยยังกรุงบาบิโลน พระนิเวศน์ พระราชวัง และบ้านเรือนเล็กใหญ่ ของประชาชน ถูกไฟเผาวายวอด  กำแพงถูกทำลาย  ทหารคนเคลเดีย ขนภาชนะทองสัมฤทธิ์ไปยังบาบิโลน  เหมือนพม่าทำกับไทยเวลากรุงศรีอยุธยาแตก คือ ขนทองคำกลับไปกรุงหงสาวดี  แต่ที่ต่างไปจากพม่า คือ คนเคลเดียขนเชลยไปด้วยจำนวนมาก คนที่ไม่ถูกจับเป็นเชลย ไม่น้อยหนีกระเจิดกระเจิงไปอียิปต์ นี่คือสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด  (2 พกษ 25:8-26)        

          ยามทุกข์เราร้องเพลง ไม่ออกนึกถึงสภาพจิตใจของเชลยชาวยิวเหล่านี้ ไม่รู้จะโทษใคร  คงต้องโทษตัวเอง ที่เล่นกับบาป ผู้รับใช้เตือนก็ไม่ฟัง  เยเรมีย์บรรยายว่า  พวกเขาไม่มีกะจิตกะใจแม้แต่จะร้องเพลง  มีแต่เสียงร้องไห้  สะอึกสะอื้น และน้ำตา   “เยรูซาเล็มเมื่อตกอยู่ในยามทุกข์ใจ  และยามลำเค็ญ  ก็ได้หวนระลึกถึงสิ่งประเสริฐ ที่ตนมีในครั้งกระโน้น …พวกคู่อริเห็นเธอแล้ว  ก็เยาะเย้ยความล่มจมของเธอ” ( พคค 1:7)   ไม่มีคำตอบ  ไม่มีอนาคต  ไม่มีความหวังใดๆเหลือหรอ   เมื่อพวกเขาสำนึก  มีสิ่งเดียวที่ยังหวังอยู่คือพระเจ้า พวกเขาร้องทูลว่า “ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้กลับสู่พระองค์เถิด” (พคค 5:21)

 

          การดื้อดึง ทำให้ผู้เชื่อตกต่ำลง 

          พระเจ้าทรงตีสอนเรา เหมือนพ่อตีลูก เปโตรกล่าวว่า “การพิพากษาเริ่มต้นที่ครอบครัวของพระเจ้า” ( 1 ปต 4:17)   คนไทยเราว่า  “ รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี”   ลูกบางคน “ไม่เจ็บก็ไม่จำ”   ถ้าไม่เจ็บไม่ทุกข์ ก็คงจะไม่สำนึก เหมือนบุตรน้อย  พระองค์รักเรามาก  อยากให้เรากลับมาเดินในทางของพระองค์  มากกว่าให้เราเตลิดเปิดเปิง สู่ความพินาศ พระองค์จึงยอมให้คนยิวถูกตีด้วยไม้เรียว  พวกเขาสำนึกผิด  เขาก้มหน้าลงกล่าวว่า “พระเจ้าทรงชอบธรรมแล้ว  เพราะข้าพเจ้าได้ขัดขืนพระบัญญัติของพระองค์” (พคค1:18)

          การช่วยเหลือจากพระเจ้า อย่างเหลือเชื่อ

          ในปี กคศ 539  ไซรัส พระราชาเปอร์เซีย(อิหร่าน) รบชนะ บาบิโลน(อีรัค) กวาดต้อนเชลยยิวมายังเปอร์เซีย ผมเชื่อว่านี่คือแผนการณ์ของพระเจ้าเหนือความคาดหมายใดๆ  มันเป็นเรื่องของสงครามระหว่างประเทศ  ที่คนยิวเองไม่มีส่วน แล้ววันหนึ่ง  ในปีนั้นพระเจ้าทรงรบเร้าพระทัยพระราชาไซรัส  กษัตริย์ของเปอร์เซีย  ให้ส่งคนยิวกลับประเทศไปสร้างพระนิเวศน์  ( อสร 1:1) ทำให้คนยิวได้กลับมาสร้างพระวิหาร   ทั้งสร้างกำแพงเมืองในเวลาต่อมาด้วย  ดูซิมันเกิดขึ้นมาได้อย่าง  มันไม่ใช่ความสามารถของมนุษย์  มันไม่ใช่สติปัญญาของผู้นำคนใด  มันไม่ใช่แผนการของใคร   แต่เป็นงานมาจากพระเจ้าล้วนๆ  ครับ  เกิดขึ้นอย่างเหลือเชื่อ  อย่างรวดเร็ว  อย่างไม่มีใครคาดคิด พระองค์เองทรงเป็นผู้ริเริ่ม ใครบ้างไม่เคยชิมความมืดมน ใครบ้างไม่เคยพบทางตัน  หรือความผิดหวัง เมื่อเราพบปัญหามืดแปดด้าน  แทนที่เราจะบ่น  ท้อแท้  ทอดอาลัยตายอยาก  เราควรวางใจ  พร้อมร่วมไม้ร่วมมือกับพระองค์   เมื่อพระเจ้าทรงเริ่ม เราจะก้าวไปกับพระองค์ แล้วพระองค์ก็เสด็จมาช่วยเรา  

 

       เวลาเรามาถึงทางตันแก้ปัญหาชีวิตไม่ตก คนเรามักโทษโน่นโทษนี่ คนยิวบ่น โทษโมเสส ต่อว่าพระเจ้าเมื่อมาถึงทางตันที่ทะเลแดง “โลงศพในอียิปต์ ไม่มีอีกแล้วหรือจึงให้พวกเรามาตายกันที่นี่” แต่โมเสสวางใจพระเจ้า แล้วการช่วยกู้อันพิศดาร  การอัศจรรย์มโหฬารก็เกิดขึ้น  ชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน  พระเจ้าให้ทะเลแดงแยกออก  เป็นช่องทางให้คนยิวก็เดินข้ามไปได้  เมื่อทัพรถรบของฟาโรห์ตามลงไปพอคนยิวขึ้นฝั่งหมด พระเจ้าก็ให้น้ำทะเลไหลกลับดังเดิม ฝังอียิปต์ทั้งกองทัพ  

             ใครจะคิดออกว่าพระเจ้ามีมุขนี้ คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อคนยิวได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศ ไปสร้างพระนิเวศน์  จากกษัตริย์ที่ไม่ใช่ยิว แถมให้มีทหารเดินทางคุ้มครอง  มีใบอนุญาตให้ตัดไม้สนสีดาจากเลบานอน จากกษัตริย์ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับยิวสักนิด เป็นผู้ออกคำสั่งให้ ยิวกลับไปสร้างพระวิหาร  เหลือเชื่อแท้ๆ เราจะร้องเพลงกำสรวล  หรือเพลงชัย

     นี่คือประวัติ ความเป็นมาของประเทศยิวยุคต่อมา เมื่อยิวยุคหลังคิดถึงอดีต มันมีทั้งบทเรียน ของความผิดพลาด ความเจ็บปวดรวดร้าว  น้ำตา ความอับอาย เสียงหัวเราะ พระพร และชัยชนะ

 

     วันนี้ เราจะกล่าวขวัญถึงอะไร มันก็อยู่ที่เรา  ชาร์ล สเปอร์เจียนกล่าวว่า  “น่าเศร้าที่คริสเตียนไม่น้อย ชอบมองด้านลบ  ชอบรื้อฟื้นความเจ็บปวด  ชอบเล่าขานความแค้น  และฝังความคิดอยู่บนมุมมืด”   ลองถามถึงอดีตของการเป็นคริสเตียน แล้วเขาจะระบาย ความขัดแย้งเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นชุดๆ  เขาพรั่งพรูความไม่ดีของคนนั้น  ความผิดพลาดของคนโน้นออกมาเป็นระลอก  และยังประทับตรา  คำพูดของเขาว่า  นี่คือความจริงที่มิได้แต่งเติม   แต่มันมีอีกด้านหนึ่ง  คือพระเจ้าทรงรักเรา  ทรงช่วยเรา ในขณะที่เรายังคิดทางแก้ไม่ออก  พระองค์ทรงประทานพรให้  ทรงช่วยเราอย่างเหลือเชื่อ  เราจะร้องเพลงกำสรวล  หรือจะเต้นโลด ด้วยเพลงสรรเสริญ มันก็อยู่เราเลือกเพลงแห่ขึ้น ของคนยิว เป็นเพลงสดุดี    

 

             “พระเจ้าทำการมโหฬารให้เรา เรามีความยินดี” (สดด 126:3)   ลองคิดย้อนอดีตของท่านดู ท่านจะพบว่า ครั้งต่อครั้ง   พระเจ้าทรงควบคุมดูแลกลไก ให้พระราชกิจของพระองค์ก้าวหน้าไป โดยเราไม่ได้แตะอะไรสักนิด ผมเล่าคำพยานเล็กๆ ให้ฟังสักเรื่อง  

             ตอนหยุยและผมมีน้องบิว  ลูกคนเล็ก  คืนหนึ่ง  ขณะผมกล่อมให้ลูกเข้านอน  ผมก็คิดจะว่าจะสอน  ก. ไก่  ให้ลูก  โดยร้องเป็นบทกลอน กลอน  ก.ไก่ ที่ผมจำได้มันก็โบราณมาก  ก.เอ๋ย ก.ไก่  ข. ไข่อยู่ในเล้า   ข  ขวด ของเรา  ค. ควาย เข้านา  ค. คนขึงขัง  ฆ ระฆังข้างฝา  .. ผมนึกในใจ  ว่า  ผมอยากให้มีกลอน ก.ไก่ ที่เป็นเรื่องจากพระคัมภีร์   เลี่ยง ไม่ใช้ ณ เณร   เพราะพระคัมภีร์ไม่มี เณร และไม่อยากไปกระทบศาสนาใด ไม่ใช้  ฑ นางมณโฑ  เพราะผมไม่อยากไปยุ่งกับทศกรรณ์ และไม่ชอบฤา ษี หนวดยาว  ที่สอนสินสมุทร สุดสาคร  ว่า “ แม้นใครรัก รักมั่ง  ชังชังตอบ”   เพราะพระเยซูสอนให้เรารักแม้แต่ศัตรู แล้วผมก็แต่งกลอนบทนี้ขึ้นมา  จนประสบความสำเร็จ  เป็นกลอนอะไร  ผมก็ไม่ทราบ มันไม่ใช่ โคลงสี่สุภาพ กาพย์ยานี 11 หรือ กลอนแปด ผมแต่งเสร็จ  กลอนก็ออกมาอย่างนี้  ก. เอ๋ย ก.ไก่  ขันเตือนใจ  เกฟา   ข. ไข่  ลูกยา   ขอพระบิดาย่อมได้    ข. ขวด ใส่น้ำมัน ช่วยเติมพลันจิตใจ  ค. ควาย ลากไถ  เดินก้าวไป ไม่หันมา  ฆ ระฆัง กังวาน  ไปวิหาร อย่าช้า    เมื่อจะเผยแพร่  นำไปสอนเด็กจริงๆ  ผมก็ลงความเห็น  เด็กไม่เข้าใจ  ต้องอธิบาย  ผมจึงนั่งเขียนคำอธิบาย  ทีละตัวอักษร  อักษรละ หน้ากระดาษ   ตอนนั้น  ผมทำเป็นจดหมายเวียน (mail merge) ส่งถึงสมาชิกทุกคน ทุกอาทิตย์  แต่ละสัปดาห์ ผมออกจดหมายถึงสมาชิก ทั้งที่อยู่เมืองไทย  และต่างประเทศ  สัปดาห์ละประมาณ  500 ฉบับ  ผมเขียนจนครบทุกตัวอักษร  มันเลยกลายเป็นบทความ  ที่ไม่ใช่สอนเด็ก  แต่สอนผู้ใหญ่  ภายหลังผมจึงรวมเป็นเล่ม  พิมพ์ออกมาขายบ้าง แจกบ้าง  วันนี้หมดไปแล้ว  ยังไม่ได้พิมพ์ใหม่   ไม่นานมานี้  ผมคิกว่า  มันน่าจะร้องเป็นเพลงได้ เพราะหนังสือคำกลอน  คนไทยไม่นิยมอ่าน แต่คนไทยชอบฟังเพลง โคลงสี่สุภาพ ร้องเป็นทำนองเสนาะไม่น่าฟัง  กลอนแปด ก็ร้องเป็นเพลงยาก 

 

 

          ผมได้แต่อธิษฐาน ผมอยากให้กลอน ก ไก่ ร้องเป็นเพลงได้ วันหนึ่งผมไปประกาศที่ 14 ไร่ ได้ยินน้องรังสรรค์ (วันนี้มาเป็นนักศึกษาศูนย์ฝึกฯ)  ร้องเพลง แหล่  ผมนึกในใจว่า  กลอน ก.ไก่ ของผมน่าจะร้องแหล่ได้  จึงแก้ไขนิดหน่อย  และส่งเนื้อให้น้องรังสรรค์  กับน้องๆนักศึกษา  ให้ไปหาเสียงดนตรี  และจังหวะจากน้องชัย ที่ห้องมีเดีย ลองไปทำดู ผมบอกเขาว่าผมจะอธิษฐานเผื่อ สองสามวันนี้ น้องเขาส่งเพลงที่เขาร้องมาให้ผมฟัง  ผมได้แต่โมทนาพระเจ้ามันคล้องจองไหลลื่นเกินกว่าที่ผมคิดครับ ใครจะคิดว่าพระเจ้าทำการของพระองค์ ตั้งแต่ผมยังไม่รู้เลยว่ามันจะเป็นยังไง เรามีเรื่องให้ขอบพระคุณพระเจ้าได้เสมอจริงๆ   

                 ดังนั้น อย่าให้เราบ่นเรื่องลบๆ แต่ให้เราสรรเสริญพระเจ้า โมทนาพระเจ้า สำหรับ “สิ่งมโหฬาร”  ที่คาดไม่ถึง ซึ่งพระองค์ทรงกระทำทุกวัน แล้วชีวิตเราจะแจ่มใส  จริงไหม?      

 






Visitor 417

 อ่านบทความย้อนหลัง